4 ต.ค.-“วราวุธ” กำชับให้เร่งตรวจสอบเหตุเก้งเผือกสวนสัตว์สงขลา 2 ตัว หายไปอย่างปริศนา ขณะที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้ผลตรวจซากกระดูกสัตว์ เป็นชนิดพันธุ์เก้ง แต่ไม่ยืนยันเป็นเก้งเผือกหรือไม่
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี นายสุริยา แสงพงค์ ผอ.องค์การสวนสัตว์ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะลงพื้นที่สืบสวนการหายไปของลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทาน 2 ตัว ในสวนสัตว์สงขลา ว่าได้มอบหมายให้เลขานุการรัฐมนตรีฯ ไปร่วมพิธีศพของ ผอ.องค์การสวนสัตว์ และติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้การสอบสวนทางคดีอาญาเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนเรื่องเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไป ประธานบอร์ดองค์การสวนสัตว์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
ส่วนการตั้งข้อสังเกตต่างๆเกี่ยวกับหายไปของเก้งเผือก เช่นเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบค้าสัตว์หรือไม่ ตายเองหรือมีคนลักพาไป ทุกอย่างมีโอกาสเป็นไปได้หมด ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานมายืนยัน ขออย่าเพิ่งด่วนสรุป ให้รอความชัดเจนจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน
นายวราวุธ บอกอีกว่า นอกจากกรณีเก้งเผือกแล้ว ยังให้ตรวจสอบไปถึงกรณีสัตว์ชนิดอื่นที่หายไปผิดปกติ เช่น นกแก้วมาคอว์ของสวนสัตว์สงขลา ที่หายไปหลายสิบตัวก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต เชื่อว่ายังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่ พร้อมกำชับสวนสัตว์ทั่วประเทศ หากพบสัตว์หายผิดปกติ ต้องเร่งตรวจสอบเช่นกัน ผู้ใดพบเบาะแสให้แจ้งข้อมูลมาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้โดยตรง
ทั้งนี้ทีมข่าวยังได้ข้อมูลจากองค์กรด้านสัตว์ป่า ระบุว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่า ทั้งแบบมีชีวิต ซากและสินค้าแปรรูป ติด 1 ใน 4 ของสินค้าผิดกฎหมายที่มีมูลค่าสูงในตลาดโลก โดยอันดับ 1.ยาเสพติด 2.ค้าอาวุธ 3.ค้าไม้ 4.ค้าสัตว์ป่า ซึ่งจากข้อมูลทราบว่ามีบางกลุ่มที่นิยมเลี้ยงสัตว์เผือกโดยเฉพาะ เช่น เสือเผือก กระรอกเผือก และงูเผือก ด้วยความหายากมีจำนวนน้อย จึงอาจทำให้สัตว์ในกลุ่มเผือก มีราคาสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว
ขณะที่ ดร.กนิตา อุ่ยถาวร ผอ.ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่าได้รับการประสานจากสวนสัตว์สงขลา เมื่อ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ให้ช่วยตรวจสอบซากสัตว์ลักษณะเป็นโครงกระดูกเก่า ว่าเป็นเก้งหรือเก้งเผือกหรือไม่ จากนั้นรับตัวอย่างชิ้นกระดูกที่มีเนื้อแห้งหรือชิ้นหนังติดอยู่ มาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากลักษณะภายนอกไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดใด และส่วนสำคัญจำเพาะของเก้งก็หายไปแล้ว จึงต้องตรวจด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าแบบนี้ จะทำได้เพียงระบุชนิดพันธุ์เท่านั้น ไม่สามารถลงลึกชี้ชัดได้ว่าเป็นเก้งเผือกหรือไม่ ซึ่งผลตรวจสอบซากที่ได้รับมา ยืนยันได้ว่าเป็นชนิดพันธุ์เก้ง ส่วนจะเป็นเก้งเผือกหรือไม่ กระบวนการไม่สามารถบอกได้เนื่องจากเก้งทั่วไปกับเก้งเผือก คือ ชนิดพันธุ์เดียวกัน นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่าง DNA ซากที่ได้รับจากสวนสัตว์สงขลา ซึ่งหากต้องการตรวจสอบซากดังกล่าวเพิ่มเติม เทียบเคียงกับ DNA พ่อพันธุ์ เพื่อตรวจสอบความเป็นพ่อลูก ก็อาจทำได้ หากมีการประสานให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
“เก้งเผือก” เป็นสัตว์เผือกโดยสมบูรณ์ มีลักษณะเหมือนเก้งทั่วไป แต่มีสีขนทั้งตัวเป็นสีขาวล้วน และมีนัยน์ตาสีแดง มีการเพาะเลี้ยงที่สวนสัตว์ดุสิต เป็นเก้งที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงได้รับการถวายมาจากชาวบ้านที่จับได้ในป่า โดยเก้งเผือกดังกล่าวมีชื่อว่า “เพชร”
ต่อมา “เพชร” ได้แพร่ขยายพันธุ์และออกลูกหลาน มีด้วยกันถึง 6 ตัว โดยลูกเก้งเผือกตัวที่ 6 ที่เกิดมาชื่อ “ไข่มุก” เป็นลูกเก้งเผือกเพศเมียตัวแรกของสวนสัตว์ดุสิตซึ่งเกิดจากพ่อเก้งเผือกชื่อ “ธูป” และแม่เก้งแดงธรรมดา เดือนตุลาคม 2555 ลูกเก้งเผือกที่เกิดจาก “พุด” ซึ่งเป็นเก้งเผือกตัวผู้ที่เป็นลูกหลานของเพชร กับเก้งตัวเมียธรรมดา ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ล้มตายลงหลังเกิดได้ไม่นาน ทำให้ปัจจุบันทั้งในไทยและสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก มีเก้งเผือกเหลืออยู่ไม่เกิน 9 ตัว
สำหรับลูกเก้งเผือกของสวนสัตว์สงขลาที่หายไปอย่างปริศนา เป็นลูกเก้งเผือกที่ทางสวนสัตว์สงขลาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จากเก้งเผือกชื่อ “เทียน” ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเก้งเผือกพระราชทาน สวนสัตว์สงขลา มี 3 รุ่น ตัวแรก คือ “เทียน” ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว รุ่นที่ 2 คือ “มูมู่” เพศผู้ และรุ่นที่ 3 คือ “ภูมิ” และ “ภาค” ปัจจุบันสวนสัตว์สงขลา เหลือ “มูมู่” เพียงตัวเดียว โดย “ภูมิ” หายไปจากส่วนจัดแสดงเมื่อเดือน ก.พ.2563 ส่วน “ภาค” หายไปจากส่วนจัดแสดงในเดือน ก.ย.63.-สำนักข่าวไทย