พัทลุง 28 พ.ย. – จ.พัทลุง หนุนชุมชนใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว ชวนล่องเรือชมธรรมชาติ 2 ฝั่งคลอง สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านกับ “ยอยักษ์” เครื่องมือประมงพื้นบ้านดั้งเดิม หวังเพิ่มรายได้ควบคู่การจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย น.ส.ศรอนงค์ สงสมพันธ์ นายอำเภอเมืองพัทลุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว จ.พัทลุง ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน และ ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวชุมชน พร้อมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวที่ “ท่าช้าง ท่าสำเภา เมืองชัยบุรี วิถีปากประ” โดยล่องเรือชมธรรมชาติ 2 ฝั่งคลอง และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองปากประ ตั้งแต่เชิงสะพานท่าช้าง หมู่ที่ 5 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน ย้อนขึ้นไปทางต้นน้ำถึงพื้นที่ ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูง โดยเฉพาะป่าสาคู พืชเศรษฐกิจสำคัญตัวหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นพืชที่ช่วยรักษาแหล่งน้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ส่งผลให้ลำคลองปากประ มีสัตว์น้ำอาศัยอย่างชุกชุม โดยเฉพาะปลามะลิ หรือที่เรียกเป็นชื่อภาษาถิ่นว่า ปลาลูกเบร่ ซึ่งเป็นปลาตัวเล็กๆ และปลาชนิดอื่นๆ แต่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ในการจับ ที่เรียกว่า “ยอยักษ์” ซึ่งมีมากที่สุดของ จ.พัทลุง ในลำคลองแห่งนี้ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยว รวมทั้งนกนานาชนิดที่หากินในบริเวณลำคลองแห่งนี้
ขณะเดียวกัน หากนักท่องเที่ยวได้มาเยือนที่นี่ ในยามเช้าสามารถล่องเรือออกสู่ทะเลสาบ ชมทิวทัศน์อันงดงามที่อยู่คู่วิถีการเกษตรและการประมงอันเรียบง่ายมายาวนาน ภาพของชาวบ้านที่ใช้ “ยอยักษ์” จับปลา พร้อมกับแสงแรกของวันที่สาดส่องยามอาทิตย์ขึ้น กลายเป็นเสน่ห์ที่สามารถหยุดเวลาของใครหลายๆ คนเอาไว้ได้ นับเป็นความงามอันเป็นเอกลักษณ์ที่ควรมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต
การนำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาดูศักยภาพของพื้นที่ เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเดิมชุมชนมีการบริหารจัดการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ทางจังหวัดพัทลุงจะเข้ามาสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าน้ำ 2 ฝั่งคลอง ท่าน้ำท่าช้าง อ.ควนขนุน กับท่าน้ำสำเภา อ.เมืองพัทลุง เมื่อล่องเรือขึ้นไปทางทิศตะวันตก มองเห็นภูเขาเมืองชัยบุรีตั้งโดดเด่น ส่วนในลำคลอง ขณะล่องเรือจะเห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยกยอยักษ์ อีกทั้งหากนักท่องเที่ยวล่องเรือลงไปทางทิศตะวันออก ก็จะออกสู่ทะเลสาบที่มียอยักษ์อยู่มากมาย และหากเป็นช่วงฤดูข้าวนาริมทะเลสาบสุก ก็จะเห็นรวงข้าวที่สุกเหลืองอร่ามสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและช่างภาพอย่างแน่นอน. – สำนักข่าวไทย