29 เม.ย. – ภัยแล้งรุนแรงอย่างหนัก ชาวบ้านและเกษตรกรหลายพื้นที่กำลังเดือดร้อน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไข ขณะที่ชาวสวนชัยภูมิน้ำตาร่วง ทุเรียนยืนต้นตาย
ที่ จ.บุรีรัมย์ ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ใน ต.สะแกโพรง อ.เมือง ต้องควักเงินซื้อน้ำอุปโภคบริโภค หลังบ่อบาดาลที่ลงทุนเจาะใช้กันเองได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก แต่ไม่เคยมีน้ำประปา เนื่องจากน้ำในอ่างฯ ต้องนำไปใช้ทำประปาหล่อเลี้ยงตัวเมืองบุรีรัมย์ โดยชาวบ้านจึงลงทุนเจาะบ่อบาดาลใช้กันเองในครัวเรือน หน้าฝนก็รองน้ำฝนไว้ทั้งกินและใช้ แต่ที่เป็นปัญหาคือช่วงหน้าแล้ง น้ำบาดาลจะไม่ไหล ต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภค ชาวบ้านเผยเมื่อ 4 ปีก่อนมีการวางท่อระบบประปาหมู่บ้าน แต่ยังไม่ได้ใช้น้ำประปาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือ อยากมีประปาใช้เหมือนหมู่บ้านอื่น
ชาวสวนน้ำตาร่วง ทุเรียนยืนต้นตาย
จ.ชัยภูมิภัย แล้งรุนแรง ประกอบฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนโอโซนในพื้นที่ อ.เทพสถิต ได้รับผลกระทบหนัก ทุเรียนที่ปลูกมาแล้วกว่า 8 ปี กว่า 200 ต้น ซึ่งกำลังออกผลผลิต ต้องยืนต้นตายเกือบทั้งหมด บางต้นมีสภาพต้นแห้ง ใบแห้งร่วงเหลือแต่กิ่ง บางต้นใบเริ่มเป็นสีเหลือง ส่วนยอดบนแห้งตาย ผลผลิตที่กำลังจะได้เก็บขายในอีกไม่กี่เดือน พลอยร่วงหล่น วอนหน่วยงานภาครัฐเร่งหาแนวทางช่วยเหลือ รวมถึงทำฝนเทียมช่วยเหลือเกษตรกร
แล้งจัด! ชาวบ้านเริ่มแย่งน้ำทำการเกษตร
ส่วนที่ อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ ผู้มีอาชีพปลูกพริก แตงกวา ถั่วฝักยาว รวมถึงพืชหมุนเวียนอายุสั้นอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร เพราะแหล่งน้ำตามลำห้วยแห้งขอด ไม่มีน้ำรดผัก ทำให้พืชที่ปลูกแห้งเฉา รอยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ เกษตรกรหลายรายต้องเคลื่อนย้ายเครื่องสูบน้ำที่เคยใช้ไปอีกพื้นที่ที่มีน้ำหลงเหลืออยู่ ทำให้เกิดปัญหา มีปากเสียงทะเลาะแย่งน้ำกันแล้ว
อ่างเก็บน้ำ “มาบประดู่” แห้งขอด ต้องขุดรวมน้ำ
เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด อบต.ท่ากุ่ม พร้อมเจ้าหน้าที่ประปา ต้องขุดอ่างเก็บน้ำมาบประดู่ เพื่อรวมน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดนำมาใช้กับโรงสูบน้ำประปา เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังท่อส่งน้ำของโครงการชลประทานที่ 9 (ชลบุรี) ที่นำน้ำจากอ่างเก็บน้ำสะพานหินมาใส่ในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไม่สามารถนำมาได้ เนื่องจากท่อส่งน้ำแตกระหว่างทาง และได้ซ่อมแซมแล้วแต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ ส่งผลให้น้ำขาดและแห้งติดพื้น เพราะฝนทิ้งช่วง ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรก็กั้นไว้บางส่วน และใช้การสูบน้ำลงในอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ที่อยู่ในแต่ละหมู่บ้านแทน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ฤดูแล้งจะสิ้นสุดปลายเดือนเมษายนนี้ โดยสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวมปัจจุบัน ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกักที่ 44,209 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 35% หรือ 20,033 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง โดยในภาคเหนือ คือ เขื่อนสิริกิติ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เขื่อนจุฬาภรณ์, ภาคตะวันออก คือ คลองสียัด, ภาคกลาง คือ เขื่อนกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยมี 85 แห่ง
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ 2% นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจากอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง รวมถึงสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีโอกาสเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ยังคงงดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2
เลขาธิการ สทนช. ยังย้ำว่าภัยแล้งปีนี้ไม่ขยายวงกว้าง ปัจจุบันมีพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพียง 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคซึ่ งหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
“ธรรมนัส” สั่งกรมชลฯ เฝ้าระวังพื้นที่เกษตรปลายฤดูแล้ง
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูแล้งตามแผนที่วางไว้ โดยพื้นที่เพาะปลูกต้องไม่เสียหาย พร้อมให้ระดมเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องกำจัดวัชพืช รถบรรทุกน้ำ เป็นต้น ประจำทุกพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้พร้อมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและเกษตรกร ที่สำคัญคือ น้ำอุปโภคบริโภคต้องจัดสรรให้อย่างเพียงพอ ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการทำฝนควบคู่ไปด้วย มั่นใจว่าผลผลิตทางการเกษตรในฤดูแล้งไม่ลดลง.-สำนักข่าวไทย