ลำพูน 17 พ.ค. – แห่งเดียวในโลก ดินย้อมผ้าที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ใช้ย้อมกันทั้งอำเภอ มีสีเฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน เรียกว่า “ผ้าย้อมดินถิ่นครูบา”
เป็นดินภายในวัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ชาวบ้านช่วยกันนำดินที่มีลักษณะเป็นผงจนถึงมีขนาดเท่าหัวนิ้วโป้ง สีน้ำตาลขุ่น นำไปแช่น้ำ บีบนวดดินละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง ก่อนนำไปต้มในกระทะ จนน้ำเริ่มเดือด นำผ้าฝ้าย ผ้าด้ายดิบที่ทอกันเอง มัดผ้าด้วยยางมัดถุงแกง มัดเป็นก้อน ๆ ลงไปต้มในกระทะที่ต้มน้ำผสมดินไว้
น้ำในบางหม้อ ชาวบ้านยังใส่แก่นไม้ฝางแช่ลงไปด้วย ทำให้สีดินเข้มข้นขึ้น ต้มได้สักพัก เอาผ้าขึ้นไปแช่ในน้ำเย็นที่ผสมดินภายในวัดพระพุทธบาทผาหนามอีกครั้ง ก่อนนำไปตากให้ผ้าแห้ง ได้ผ้าสีสันสวยงาม นำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/05/17/1174125/1684324487_123548-tnamcot-1024x571.jpg)
ชาวบ้านบอกว่า เคยนำดินที่อื่นมาย้อมผ้า สีที่ได้ก็ไม่เหมือนแบบนี้ แม้แต่ดินในวัดแห่งนี้ก็มีหลายสีหลายระดับความเข้มตามหน้าดิน
นางอำพร วงค์ษา อายุ 45 ปี เล่าว่า ผ้าที่ชาวบ้านช่วยกันย้อม เป็นผ้าหนึ่งเดียวในโลกที่ย้อมด้วยดินจากวัดพระพุทธบาทผาหนาม ผ้าจะมีสีเฉพาะตัว เรียกว่า “ผ้าย้อมดินถิ่นครูบา” ที่เรียกชื่อแบบนี้เพราะจากเดิมชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์ของครูบาอภิชัยขาวปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาหนาม ที่มรณภาพไป ได้มาช่วยกันขุดดินสร้างวัด ดินไปเปื้อนเสื้อผ้าที่ และซักไม่ออก สีดินติดผ้าแน่นมาก ชาวบ้านจึงเกิดความคิดนำดินในวัดนี้ไปย้อมผ้าเพื่อสวมใส่ จากนั้นก็พัฒนาวิธีการย้อมผ้ามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นผ้าย้อมดินถิ่นครูบามาจนถึงทุกวันนี้ หรือเรียกอีกชื่อว่า “ผ้าย้อมอีกาง”
สำหรับ “อีกาง” คือลิง ตามธรรมชาติของลิงมีความซน อยู่นิ่ง ๆ ได้นาน เหมือนผ้าที่ย้อมมีสีที่ไม่สม่ำเสมอ สีโดดไปโดดมา เหมือนลิงที่อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องกระโดดไป. – สำนักข่าวไทย