16 พ.ค. –บรรยากาศเปิดเทอมวันแรก จังหวัดชายแดนใต้ มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงดูแลรักษาความปลอดภัยเข้ม ส่วนที่อ่างทอง เกิดปัญหาผู้ปกครองไม่ยอมให้ไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ด้านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียน กทม. รับเปิดเทอมวันแรก ส่งเสริมโรงเรียนมีคุณภาพใกล้บ้าน ย้ำมาตรการป้องกันโควิด-19
บรรยากาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566 ในพื้นที่จังหวัดยะลา โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ เปิดการเรียนการสอนพร้อมกันทั้งหมด ที่โรงเรียนบ้านพงยือไร อ.เมือง ยะลา ผู้ปกครองเดินทางมาส่งบุตรหลาน ก่อนเวลา 08.00 น. บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีตำรวจตระเวนชายที่ 43 หน่วยเฉพาะกิจตำรวจยะลา 9143 ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าโรงเรียน เส้นทางระหว่างโรงเรียน และพื้นที่โดยรอบ อำนวยความสะดวกและดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง
โรงเรียนอนุบาลยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา บรรดาผู้ปกครองเดินทางมาส่งนักเรียนตั้งแต่เช้า โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ที่ประตูทางเข้าโรงเรียน
ผู้ปกครองค้านให้นักเรียนไปเรียนร่วมโรงเรียนอื่น
ส่วนที่โรงเรียนวัดไทรย์ (เกษมจริยคุณ) อ.เมือง จ.อ่างทอง ผู้ปกครองและชาวบ้านรวมถึงพระกว่า 100 คน รวมตัวกันคัดค้านที่โรงเรียนจะให้นักเรียนและครูไปเรียนและไปสอนร่วมกับโรงเรียนวัดโคศุภราช ซึ่งอยู่ห่างไปกว่า 10 กม. โดยอ้างว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพการเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ดีกว่า แต่ผู้ปกครองต่างไม่พอใจ เกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อนทั้งในเรื่องของการเดินทางรวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น
นายกิตติ ป้องประสงค์ ผอ.โรงเรียนชี้แจงกับผู้ปกครองว่า เป็นการทดลองนำเด็กไปเรียนร่วมกับโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งได้พูดคุยกันมานานกว่า 1 ปีแล้ว และนำผู้ปกครองไปดูสถานที่เรียนมาแล้ว แต่มีผู้ปกครองคัดค้านในวันนั้น 6 ราย ซึ่งก็อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันว่าจะยุบโรงเรียน สุดท้ายทางผู้อำนวยการโรงเรียนยินยอมที่ให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ไปก่อน และจะพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองต่อไป
“ชัชชาติ” ตรวจโรงเรียน กทม. รับเปิดเทอมวันแรก
ขณะที่โรงเรียนใน กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมนักเรียนและครู โรงเรียนแจ่มจันทร์ เขตวัฒนา ในวันเปิดเทอมโรงเรียนในสังกัด กทม.วันนี้วันแรก พบผู้ปกครองใช้รถจักรยานยนต์รับส่งบุตรหลานเลี่ยงรถติด ส่วนใหญ่สวมหมวกทุกคน ซึ่ง กทม.ให้ความสำคัญกับหมวกกันน็อกเด็ก เพราะนักเรียน กทม.กว่า 70% นั่งจักรยานยนต์ จึงแจกหมวกไปแล้วกว่า 1.3 แสนใบ
กทม.มีโรงเรียนทั้งหมด 437 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา โดยมีจำนวนนักเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนระดับประถม จึงให้ความสำคัญระดับปฐมวัย เรื่องการศึกษาและสุขภาพเป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำใน กทม. ซึ่งเป็นมิติปัญหาสำคัญของ กทม. จึงเน้นคุณภาพของครูไม่ให้ทำงานเอกสารมาก คืนครูให้นักเรียน ปรับปรุงอาหารให้ดีขึ้น มีสลัดบาร์ตอนเช้าให้เด็ก ๆ ได้รับสารอาหารครบถ้วน ส่งเสริมการเรียน active learning ให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งหมดที่ทำเน้นทำให้โรงเรียนใกล้บ้านให้มีคุณภาพ
ส่วนมาตรการป้องกันโควิด-19 ยังแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ โดยครูจะเป็นผู้ดูแลให้เหมาะสม เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ใน กทม.วานนี้ 1,900 ราย ซึ่งยังสูง แต่ส่วนใหญ่อาการน้อย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล แต่เมื่อเปิดเทอมแล้วต้องระวังการระบาดในโรงเรียน ยังคงต้องมีมาตรการป้องกันต่อเนื่อง. – สำนักข่าวไทย