ราชบุรี 27 เม.ย. – ตำรวจค้นบ้าน “พี่สาวแอม” เปิดร้านนวดแผนไทย พบยาสมุนไพรจำนวนมาก เตรียมส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ด้านสภาเภสัชฯ พร้อมลงโทษ หากเภสัชกรเอี่ยวคดี “แอม ไซยาไนด์”
พ.ต.อ.โชติช่วง ภาณุทัต ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดราชบุรี นำกำลังตำรวจภาค 7 สภ.บางแพ-สภ.โพธาราม พร้อมหมายค้นจากศาลจังหวัดราชบุรี เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.แจง พี่สาวต่างมารดาของ น.ส.แอม เพื่อหาหลักฐานเรื่องของสารไซยาไนด์ เพราะเดิม น.ส.แจง เคยเป็นแพทย์แผนไทยที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจจะทราบเรื่องของยาป้องกันโควิด ที่ญาติของผู้เสียหายรายหนึ่ง เคยเดินทางมาซื้อยาที่นี่ ตามคำแนะนำของแอม หลังจากนั้นได้นำไปกินก่อนหมดสติและเสียชีวิต โดยมีญาติของผู้เสียชีวิต พามาชี้จุดที่มาซื้อยา
จากการตรวจค้นเบื้องต้นพบยาสมุนไพรพื้นบ้าน บรรจุลงในแคปซูลและขวดโหล ซึ่งยังไม่มีตัวยาที่ผู้เสียหายได้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ แต่จะนำหลักฐานทั้งหมดที่พบส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบอีกครั้ง พร้อมทั้งจะเชิญตัวนางสาวแจงไปให้ปากคำที่ สภ.บางแพ
นายศราวุธ แก้วงามประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.วังเย็น อ.บาแพ ให้ข้อมูลว่า บ้านหลังดังกล่าว ตั้งอยู่มานานนับสิบปีแล้ว มีพี่น้อง 3 คน โดยเปิดเป็นร้านนวดแผนไทย คนที่เป็นเภสัชกรเป็นคนดูแล และยังทำเกี่ยวกับยาต่อต้านโควิด-19 นอกจากนี้ยังเปิดเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่หน้าบ้านด้วย โดยแอมกับคนที่เป็นเภสัชกรชื่อ “จอย” เป็นพี่น้องคนละแม่กัน เป็นผู้ดูแลร้านนวดแผนไทย
จากการสังเกตบริเวณบ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเขตรอยต่อระหว่าง 2 อำเภอ คือ อ.บางแพ และ อ.โพธาราม พบบริเวณริมถนนมีป้ายร้านบ้านรักษ์สุขภาพสเต๊ก เปิดรับถ่ายเอกสาร ปรินต์งาน เบอร์โทรรับ-ส่งอาหาร พร้อมเบอร์โทรติดต่อหลายเบอร์ติดไว้ ชาวบ้านใกล้เคียงบอกว่า ร้านสเต๊กนั้น มีการนำป้ายมาติดไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้ขาย แต่ที่บ้านหลังนั้นจะขายจำพวกเฟอร์นิเจอร์ ไม้ โต๊ะ เก้าอี้ ส่วนแอมนั้นเคยมากินอาหารที่ร้านค้าแถวนี้ด้วยแต่นานมาแล้ว
ด้านสภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์กรณีสารพิษไซยาไนด์ โดยแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและครอบครัว พร้อมระบุถึงกรณีมีประเด็นข่าวที่อาจทำให้เข้าใจว่ามีเภสัชกรเข้าไปพัวพันกับคดีนั้น ขอเรียนว่า เภสัชกรเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยาและสารเคมีเพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันโรคและต้องปฏิบัติภายใต้กรอบจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพ ที่กำกับดูแลโดยสภาเภสัชกรรมอย่างเคร่งครัด หากการสืบสวนสอบสวน ขยายผลแล้ว พบว่าผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมรายใดมีส่วนเกี่ยวพันในการกระทำผิดจริง สภาเภสัชกรรมพร้อมจะพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณ ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ อย่างเคร่งครัด
พร้อมระบุถึง “โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide) และโซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide)” ไม่ใช่ยา เป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย ที่รับผิดชอบดูแลและควบคุม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และปกติจะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม ไม่ได้นำมาใช้ทางยา .-สำนักข่าวไทย