เชียงราย 6 พ.ย.-รพ.เชียงแสน ออกประกาศสั่งพักงานแพทย์หญิงด่าคนไข้ไม่มีกำหนด รอผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้าน “หมอยงยุทธ” ชี้หนทางยุติหมอ-คนไข้ ปะทะคารม มาตรการวินัย คู่สำรวจสภาพจิตใจคนทำงาน และเพิ่มอัตรากำลัง ลดภาระงานก่อเครียด
กลายเป็นกรณีที่โลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์คลิป ขณะเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งและเกิดมีปากเสียงกับคุณหมอ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก “โรงพยาบาลเชียงแสน” ออกมาโพสต์ข้อความประกาศ ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการจังหวัด มีการสั่งพักงานแพทย์ อย่างไม่มีกำหนดและรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ประกาศ ณ วันที่ 5/11/2565 เวลา 22.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นพ.สุขชัย เธีนรเศวตตระกุล ผู้อำนวยการ รพ.เชียงแสน กล่าวว่าหมอคนดังกล่าวนอกจากพักงาน 7 วัน ขอลาพักร้อนยาวต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ แต่เมื่อเวลา 22.00 น. ก็มีประกาศออกมา มีรายงานว่า เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ รพ.รับสายตลอดทั้งวัน เพราะมีแต่คนโทรมาถามหาข้อมูลหมอและต่อว่าโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และขอให้สงวนการโทรไว้เฉพาะผู้ป่วยที่ฉุกเฉิน
ขณะที่ชาวเน็ตขุดทวิตเตอร์ “หมอปากแซ่บ” เผยแพร่ข้อความที่อ้างว่าเป็นหมอคนดังกล่าวพูดถึงวิดีโอที่ถูกแชร์ว่อนโซเชียล ซึ่งก็มีเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย คนที่เข้าใจก็เข้าใจว่าคนไข้ไม่ได้น่ารักทุกคน ขณะที่อีกกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าหมอรายนี้อาจจะมีอาการป่วย ด้วยการทำงานที่เคร่งเครียดทุกวันจึงสะสม แต่การพูดตอบโต้แรงขนาดนี้ก็ไม่สมควรจะเป็นหมอรักษาประชาชน และอยากให้ทาง รพ.จัดการให้ถึงที่สุด
ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต อยากให้มองเรื่องนี้อย่างเข้าใจ กลุ่มวิชาชีพแพทย์ถือว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเครียดสูงและถูกกดดันจากความคาดหวังของคนไข้และญาติ ทำให้เครียดได้ง่าย เรื่องจะบอกว่าใครถูก-ผิด ในโลกความจริง ไม่มีใครถูกหรือผิดร้อยเปอร์เซนต์ และไม่อยากให้เกิดดราม่า หลังจากมีการโทรศัพท์ไปต่อว่า โรงพยาบาล หรือพยายามสืบค้นข้อมูลประวัติของหมอที่มีข้อพิพาทกับคนไข้ จนคนภายในไม่สามารถติดต่อโรงพยาบาลได้ เพราะจะยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติม และเกิด Hate speed สร้างความเกลียดชัง ทั้งที่ทุกคนสามารถเกิดความเครียดกันได้ บทลงโทษไม่ควรมีแค่ทางวินัยอย่างเดียว เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่ากลุ่มวิชาชีพแพทย์มีความเครียดสูง ต้องมีแนวทางอื่นควบคู่ทางวินัย และแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เช่น มาตรการสำรวจทางสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ควรดำนินการควบคู่กับทางวินัยทุกครั้ง ที่เกิดปัญหา เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้นทุกครั้งที่เกิดเรื่องจะสิ้นสุดที่มาตรการทางวินัย
ภาวะฟิวส์ขาด ไม่ว่าคนไข้ หรือหมอ เกิดขึ้นกันได้ทุกคน แต่ในส่วนมาตรการใน รพ.ควรมีมาตรการสำรวจสุขภาพจิตบุคลากรด้วย เพื่อช่วยลดปัญหาความ เครียดจากการทำงาน ส่วนแนวทางการเพิ่มอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นอีกมาตรการที่ต้องทำคู่ขนาน เพื่อลดภาระงาน ต้องมี 3 อย่างถึงจะแก้ไขได้ มาตรการทางวินัย, มาตรการทางสุขภาพจิต และการเพิ่มอัตรากำลังเพื่อลดภาระงานของแพทย์.-สำนักข่าวไทย