ภูมิภาค 18 ก.ย. – สถานการณ์แม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี หลังจากฝนตกหนักและปริมาณน้ำไหลหลากจากจังหวัดใกล้เคียง ล่าสุดน้ำเอ่อท่วมในพื้นที่ิริมตลิ่ง อำเภอที่ติดกับลุ่มแม่น้ำท่าจีน ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนทยอยเก็บของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม.
สถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง ยังคงส่งผลกระทบต่อชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมคลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร เป็นรอบที่ 2 มานานกว่า 1 เดือนแล้ว และยังคงขยายวงกว้างต่อเนื่อง ล่าสุดบ้านเรือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกแนวคันกั้นน้ำใน ต.ชัยฤทธิ์ ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย ถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเพิ่มอีก และเป็นอำเภอที่ 4 ของ จ.อ่างทอง ซึ่งได้รับผลกระทบ
ขณะเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ยังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อรองรับน้ำเหนือต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 1948 ลบ.ม./วินาที น้ำเหนือเขื่อน 16.42 เมตร ท้ายเขื่อน 14.33 เมตร โดยมีรายงานแจ้งว่าน้ำส่งผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้น มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมแล้วรวม 701 หลังคาเรือน และยังคงเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งทาง จ.อ่างทอง เตรียมความพร้อมในการรับมือและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
เฝ้าระวัง 24 ชม. ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์แม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี หลังจากสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และปริมาณน้ำไหลหลากจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ทั้งแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ิริมตลิ่ง อำเภอที่ติดกับลุ่มแม่น้ำท่าจีน พื้นที่ท้ายน้ำอย่าง อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง ทำให้บ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนทยอยกันเก็บของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม.
ในพื้นที่ อ.บางปลาม้า ปริมาณน้ำเริ่มเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ พื้นที่ทำนาส่วนใหญ่ขณะนี้เร่งเก็บเกี่ยวข้าว เพราะหวั่นมีการระบายน้ำปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ข้าวจะจมน้ำเสียหาย
ในพื้นที่ อ.บางปลาม้า ได้รับกระทบทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่รองรับน้ำขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศเตือนให้ชาวบ้านเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยการระบายน้ำเข้าทุ่งปีนี้จะระบายในปริมาณไม่มากเท่าปีที่แล้ว
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 6 “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18-21 กันยายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ในช่วงวันที่ 18 กันยายน 2565
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2565
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดจันทบุรี และตราด
ในช่วงวันที่ 21 กันยายน 2565
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย