ตรัง 6 ก.ย. – พาไปย้อนรอย 26 ปี ประติมากรรมมัมมี่เมืองตรัง ที่เคยโด่งดังไปทั่วประเทศ กับ 3 ชีวิตพ่อแม่ลูกในตระกูล “หนูเมือง” ผู้ล่วงลับ กับตำนานความเชื่อ ความศรัทธา ที่ผู้คนยังถามไถ่ถึง
ศาลากตัญญูแห่งนี้เป็นสถานที่ย้อนรอย ไปติดตาม 26 ปี ประติมากรรมมัมมี่เมืองตรัง ตั้งอยู่ในสวนปาล์ม เนื้อที่กว่า 14 ไร่ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยต่อ ตำบลไม้ฝาด ใกล้คลองอ่างทอง ขนาดศาลากว้าง 1.5 เมตร ยาว 8.0 เมตร ในศาลามีประติมากรรมของบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว 3 ชีวิต ในตระกูล “หนูเมือง” ประกอบด้วย นายเวียง หนูเมือง, นางเอื้อน หนูเมือง และนายชำนาญ หนูเมือง
ปี 2539 นายเวียง ผู้เป็นพ่อเสียชีวิตลง ด้วยความอาลัยของลูกๆ นายชำนาญ ลูกชายคนโต และนายพิพัฒน์ ลูกชายคนที่ 6 จึงช่วยกันสร้างประติมากรรมห่อหุ้มศพพ่อเหมือนมัมมี่ ด้วยหน้าตาและขนาดเท่าตัวคนจริง เพื่อเก็บรักษาร่างให้อยู่กับครอบครัวตลอดไป
นายประเสริฐ แสงศรีจันทร์ อดีตสมาชิกสภา อบต.หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ฝาด เล่าว่า ร่างคุณพ่อเวียงนั่งขัดสมาธิ แล้วโบกปูนซีเมนต์ทับ ห่อหุ้มด้วยทองคำเปลว ก่อนใช้สีน้ำอะคริลิก สีดำ เททับ แล้วนำตู้กระจกใสมาครอบไว้ ถัดมา 9 ปี นางเอื้อน ผู้เป็นแม่ก็เสียชีวิตตาม ลูกชายก็นำศพแม่มาฝังเอาไว้ด้านขวารูปปั้นพ่อ จากนั้นแค่ 4 ปี นายชำนาญ ลูกชายคนโต หนึ่งในนักประติมากรรมที่ปั้นพ่อก็เสียชีวิตลง นายพิพัฒน์ น้องชาย จึงปั้นปูนหล่อพี่ชายขนาดเท่าตัวจริงในท่านั่งคุกเข่าพนมมือ และสวมใส่ชุดเครื่องแบบกากีเต็มยศ เพราะเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นำกระดูกมาบรรจุลงไปในปูนหล่อดังกล่าวตั้งด้านขวาสุดของศาลา แรก ๆ ชาวบ้านหวาดกลัว บางบ้านต้องย้ายหนี และไม่กล้าขี่รถผ่านยามค่ำคืน แต่นานเข้าก็เป็นความเคยชิน ผู้คนจึงสัญจรผ่านตามปกติ
เดิมที่ตรงนี้เป็นบ้านที่คุณพ่อเวียง คุณแม่เอื้อน และ 2 ลูกชายนักปั้น เคยอาศัยอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว และถูกเปลี่ยนมาเป็นบ่อกุ้งแทน เหลือเพียงศาลากตัญญูที่มีประติมากรรมมัมมี่อยู่. -สำนักข่าวไทย