ทำเนียบรัฐบาล 18 ก.ค. – “วิษณุ” ระบุการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 19-22 กรกฎาคมนี้ ไม่มีใครห่วงเรื่องคะแนนปริ่มน้ำ แต่กังวลเรื่องการบริหารเวลาของทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล เหตุเวลาน้อย แต่คนถูกซักฟอกเยอะ ชี้ถ้ารัฐมนตรีคนไหนได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 239 ถือว่าสอบตก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีมีรัฐมนตรีหลายคนมาพูดคุยขอคำปรึกษาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 19-22 กรกฎาคมว่า เป็นการพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด ไม่มีใครขอคำปรึกษาด้านกฎหมาย เพียงแต่ตนได้เล่าถึงสมัยอดีตในยุคนายกรัฐมนตรีหลายคน เช่น นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา นายทักษิณ ชินวัตร ว่า เกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง และเป็นอย่างไรในการอภิปรายในสมัยนั้น เพราะรัฐมนตรีหลายคนไม่ได้อยู่ในรัฐบาลยุคนั้น ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นธรรมดา ไม่ได้หนักเบาไปกว่ากัน เพียงแต่ครั้งนี้มีผู้ถูกอภิปราย 11 คน ถือว่าเยอะ แต่ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะก็เคยมีมาแล้ว
“ถ้าจะเป็นห่วงคืออภิปราย 11 คน แต่ใช้เวลาเพียง 4 วัน อาจจะตอบได้ไม่มาก จึงน่าหวั่นเกรงเรื่องการบริหารเวลาทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่อาจจะบริหารยากหน่อย ส่วนการวางคิวอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นคนสุดท้าย มีนัยอะไรหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องปกติที่จะทำ เพราะหากผมเป็นฝ่ายค้านก็จะทำเช่นนั้น” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ผู้อภิปราย 1 คน สามารถอภิปรายรัฐมนตรีหลายคนได้ ซึ่งฝ่ายค้านแบ่งเอาไว้เป็นสูตร 2-3-3- 3 คือเริ่มที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต่อมาคือพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นายจุติ ไกรฤกษ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี จากนั้นพรรคพลังประชารัฐ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น และวันสุดท้ายคือ 3 ป. ซึ่งก็เป็นระเบียบดี โดยในส่วนของรัฐบาลไม่ได้จัดระเบียบอะไร แต่เตรียมไว้ให้รัฐมนตรีแต่ละคนตอบประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนนายกฯ ตอบ 5 ชั่วโมง
ส่วนคะแนนเสียงที่อาจปริ่มน้ำน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เห็นมีใครห่วง ทั้งนี้ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่ง คือคะแนน 238 ครึ่ง ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีได้ 239 ตามที่โหวตไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีคนนั้นสอบตก ส่วนคะแนนเสียงไว้วางใจจะมีเท่าไรนั้น ในทางกฎหมายไม่เป็นสาระสำคัญ เช่น อาจจะงดออกเสียงเป็นร้อยเลยก็ได้ แต่ในความรู้สึกของสื่อและประชาชนจะไปจับตาดูว่าคะแนนไว้วางใจมีเท่าไรแล้วเอามาเปรียบเทียบ แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ไม่ได้ให้เทียบเช่นนั้น แต่รัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาที่มีอยู่
“วันนี้สภามี 477 เสียง ต้องคอยดูว่า คะแนนที่จะได้แต่ละคนเป็นอย่างไร ซึ่งใครจะได้เท่าไรถือเป็นเทคนิคฝ่ายการเมือง ตนไม่ทราบว่า ใครมีคะแนนอยู่เท่าไร ตอนนี้เราก็รู้อยู่ว่าฝ่ายค้าน 206-207 เสียง และบางคนยังบอกว่ามีฝากเลี้ยง มีงูเห่า แต่ตนไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ ซึ่งตัวเลข 239 ถือเป็นตัวเลขหลักที่อยากให้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่จะต้องดูที่ 239 เสียง คะแนนที่รัฐมนตรีแต่ละคนได้ ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ไม่มีอะไรผิดบาป เพียงแต่ทำให้รู้สึกเสียเครดิตเล็กน้อยว่าใครได้รับความไว้วางใจมากกว่าใคร เป็นเรื่องธรรมดา และไม่ต้องถือสา อภิปรายกันมา 3 ครั้งแล้วในรัฐบาลนี้ คะแนนเสียงไว้วางใจก็ไม่ได้เท่ากัน” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนที่มีการกดดัน หากใครได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูงจะต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า โดยมารยาทไม่มีปัญหาอะไรในทางกฎหมาย และมารยาทในทางการเมืองก็ไม่เคยมีมารยาทอะไรในเรื่องนี้ ผ่านไป 7 วันก็ลืมแล้ว ถ้าใครได้ไม่ถึง 239 ก็อยู่ไป ตนไม่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีเครียดกับการเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ และในวันที่ 23 กรกฎาคม จะรู้ว่าใครได้คะแนนอย่างไร.-สำนักข่าวไทย