รัฐสภา 18 ก.ค. -ปลัดกลาโหม ยัน กองทัพเริ่มนโยบายลดกำลังพลมาตั้งแต่ปี 63 ตั้งเป้าลดอัดตราผู้ทรงคุณวุฒิ 50% ภายในปี 70 ใช้จ่ายงบลับในภารกิจงานข่าว–ยาเสพติด ต้องรายงาน รมว.กห.ทุก 3 เดือน แจง ซื้อ “ยูเอวี” ตามขั้นตอน
พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยยืนยันว่า ทุกเหล่าทัพมีนโยบายชัดเจนเรื่องการลดกำลังพล โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 อัตราผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องลดลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่กำลังพลทั่วไปจะลดลง 5% ของอัตราบรรจุจริง ขณะนี้ทุก 3 เดือน กระทรวงกลาโหมสั่งการให้ทุกเหล่าทัพรายงานกรอบอัตรากำลังพล เพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุผล
ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การรับสมัครตั้งแต่นักเรียนนายสิบถึงนักเรียนนายร้อย นายเรือ และนายเรืออากาศ ปรับลดจำนวนลงตามลำดับ ขณะเดียวกันการจัดวางอัตรากำลังพล ซึ่งใช้กรอบการจัดตั้งตามมาตรฐานแบบตะวันตก ซึ่งมีกำหนดไว้ชัดเจนว่า 1 กองพลต้องมีกี่กองร้อย และ 1 กองร้อยต้องมีกี่คน ปัจจุบันการบรรจุจริงไม่เกิน 60% ของอัตราคือไม่ได้บรรจุเต็มร้อย ยกเว้นในอนาคตหากมีสถานการณ์ จึงจะพิจารณาตามสถานการณ์
“สำหรับประเด็นการเกณฑ์ทหาร ยืนยันว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ปีนี้เรียกประจำการเพียง 8 หมื่นคนเศษ เพราะกองทัพได้พิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น เนื่องจากการนำทหารเข้าประจำการ ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เบ็ดเตล็ดด้วย เช่น ค่าเครื่องแบบและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น” พล.อ.วรเกียรติ กล่าว
ปลัดกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า กองทัพบกเดินหน้านโยบายสมัครใจเข้าเป็นทหารผ่านระบบออนไลน์ และเปิดโอกาสให้ทหารประจำการสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบได้ถึง 80% ส่วนข้อถามถึงคุณภาพชีวิตและสิทธิของทหารที่เข้าประจำการ ยืนยันว่า ทหารที่ถูกเรียกเข้าประจำการจะได้รับการศึกษาและการฝึกอาชีพ และยังมีรายได้ทั้งเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเพียงพอให้ทหารส่งให้ครอบครัวได้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีตัวเลขทหารที่ปลดประจำการ และขอสมัครต่อ ซึ่งกองทัพจะพิจารณาอนุญาตให้คราวละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปีต่อเนื่องอยู่ทุกปี
พล.อ.วรเกียรติ ชี้แจงประเด็นเงินรถประจำตำแหน่งว่า เป็นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงกลาโหม และจ่ายให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งระดับรองนายพล ที่เทียบเคียงตำแหน่งรองเจ้ากรมขึ้นไป ไม่ได้จ่ายให้กับพันเอก (พิเศษ) ทุกคน โดยอัตราการจ่ายตามตำแหน่งต่าง ๆ ระบุชัดประกอบด้วยตำแหน่ง พันเอก (พิเศษ) เทียบรองเจ้ากรม ได้รับค่ารถประจำตำแหน่ง 25,400 บาทต่อเดือน ตำแหน่งเทียบเท่าพลตรี แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งหลัก ได้รับ 31,800 บาทต่อเดือน และตำแหน่งพลโทและพลเอก แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งหลัก ได้รับ 41,000 บาทต่อเดือน
ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า งบประมาณสำหรับรถประจำตำแหน่งไม่ใช่ รถประจำตำแหน่ง แต่เป็นรถควบคุมสั่งการทางการสื่อสาร ซึ่งใช้ในด้านยุทธการและใช้งบปกติ ไม่ใช่งบลับ ซึ่งก่อนจัดหาต้องตกลงกับสำนักงบประมาณด้วย ส่วนกรณีการซื้อยูเอวี ตรวจการชายฝั่งกองทัพเรือ ยืนยันว่า เป็นไปตามระเบียบ เพราะหากใช้จ่ายงบประมาณเกิน 500 ล้านบาทจะต้องขออนุมัติที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งตนในฐานะปลัดกระทรวงจะดูว่าเป็นไปตามขั้นตอน และผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพระธรรมนูญ หรือสำนักงบประมาณของกระทรวงกลาโหมหรือไม่
“ส่วนข้อซักถามกรณีนโยบายซื้ออาวุธ ควบคู่เทคโนโลยี กองทัพบรรจุไว้เป็นนโยบายในการต่อรองซื้ออาวุธ และพยายามทำเต็มที่แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า บางครั้งคู่สัญญาก็กำหนดเช่นกันว่า หากซื้อทั้งสองอย่าง ก็อาจจะต้องใช้งบเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่ยืนยันกองทัพเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือผลิตเพื่อส่งขายผ่านหน่วยนงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์อำนวยการซ่อมสร้างอาวุธ หรือสถานบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่พยายามดำเนินการอยู่” ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.อ.วรเกียรติ กล่าวถึงปัญหาผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ตกค้างอยู่ในศูนย์อพยพกว่า 30 ปีว่า เงื่อนไขการเดินทางกลับของผู้อพยพคือไม่สามารถเลือกพื้นที่ในเมียนมาได้ จึงทำให้ไม่สามารถกลับไปในถิ่นฐานเดิมได้ และเมื่อไปอยู่ในถิ่นฐานใหม่ที่ทางเมียนมากำหนดให้แล้วรู้สึกไม่พอใจ ทำให้ผู้อพยพรายอื่น ๆ ไม่สมัครใจจะเดินทางกลับไปเพิ่มขึ้น
“ส่วนประเด็นเครื่องบินเมียนมารุกล้ำ มีรายละเอียดที่ผู้บัญชาการทหารอากาศจะชี้แจงในโอกาสต่อไป แต่สำหรับภาพรวมของกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงได้ดำเนินการทุกระดับตั้งแต่รูปแบบคณะกรรมการชายแดน ไปจนถึงคณะกรรมการนโยบายหรือ HLC ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้ กระทรวงกลาโหมยืนยันจะดำเนินการให้ดีที่สุด เพื่อรักษาความสัมพันธ์ เนื่องจากเมียนมาและไทยมีพรมแดนติดกันยาว 2 พันกว่ากิโลเมตร” ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.อ.วรเกียรติ ชี้แจงถึงประเด็นงบราชการลับว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ในการรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2547 ที่กำหนดภารกิจไว้ 4 ประเภท เช่น งบด้านความมั่นคง งบเกี่ยวเสพติดและการข่าว เป็นต้น โดยทุก 3 เดือนจะต้องเสนอรายงานการใช้จ่ายให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบ ขณะเดียวกันเมื่อปี 2564 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจงบลับเพิ่มเติมต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ ผู้ว่าฯ สตง.ได้เข้าพบผู้บริหารเหล่าทัพต่าง ๆ เพื่อแจ้งหลักเกณฑ์ และจะเริ่มต้นเข้ามาตรวจงบลับของกองทัพตั้งแต่ปี 2566 ด้วย.-สำนักข่าวไทย