ทำเนียบรัฐบาล 12 ก.ค.- ครม.เห็นชอบหลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในการติดต่อราชการ เพิ่มความรวดเร็ว ง่ายขึ้น และถูกลง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และแผนการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
สำหรับสาระสำคัญและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแนวทางของธนาคารโลก ใน 3 ด้าน ได้แก่
1. การบริการที่รวดเร็วขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตโดยคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน คาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนงานที่มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการจาก 604 งาน เหลือเพียง 43 งาน จะทำให้สามารถลดเวลาการพิจารณาได้เฉลี่ย 22 วันทำการต่องานบริการ ส่วนการนำระบบการอนุญาตหลัก (Super License) มาใช้ในการอนุญาต จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้เร็วขึ้น เช่น การขออนุญาตของธุรกิจค้าปลีก จากเดิมที่ต้องติดต่อไม่น้อยกว่า 13 หน่วยงาน ใช้เวลา 284 วันทำการ เหลือเพียงติดต่อ 1 ช่องทาง ใช้เวลา 185 วันทำการ และกิจการสปา จากเดิมที่ต้องติดต่อไม่น้อยกว่า 9 หน่วยงาน ใช้เวลา 120 วันทำการ เหลือเพียงติดต่อ 1 ช่องทาง ใช้เวลา 96 วันทำการ
2. การบริการที่ง่ายขึ้น เช่น การให้ทดลองประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบอนุญาต คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้จำนวน 19 กิจการ ในกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กิจการขายอาหารสัตว์ กิจการสปา การขยายจำนวนใบอนุญาตที่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต จากปัจจุบันดำเนินการได้ 31 ใบอนุญาต เพิ่มเป็น 154 ใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ ใบอนุญาตค้าโบราณวัตถุ จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ จำนวน 890,315 ราย ภาครัฐได้รับค่าธรรมเนียมเร็วขึ้นไม่น้อยกว่า 253 ล้านบาท/ปี และการขยายอายุใบอนุญาตเป็นไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่มีอายุใบอนุญาต คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 19 ใบอนุญาต ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การออกใบอนุญาตขายปุ๋ย จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก ไม่ต้องไปติดต่อราชการเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตทุกปี ประมาณ 764,850 ราย และลดภาระค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 590 ล้านบาท/ปี
3. การบริการที่ถูกลง เช่น การปรับเปลี่ยนระบบการอนุญาตเป็นการจดแจ้ง เพื่อลดระยะเวลาในการขออนุญาตในกิจการที่ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้ 11 ใบอนุญาต และปรับเปลี่ยนจากจดแจ้งเป็นจดแจ้งออนไลน์ได้ 72 งานบริการ จาก 336 งานบริการ ผู้รับบริการประมาณ 15.85 ล้านราย/ปี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 1,585 ล้านบาท/ปี และการกำหนดให้เมื่อใบอนุญาตชำรุด สูญหาย ไม่ต้องแจ้งความ คาดว่าจะช่วยลดจำนวนการแจ้งความลงได้ 66,000 ใบแจ้งความ/ปี ทำให้สามารถลดค่าเดินทางรวมของประชาชนประมาณ 6.6 ล้านบาท/ปี
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ หรือประชาชน ได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ซึ่งตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 34 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างน้อยทุก 5 ปี ประกอบกับปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับการพัฒนาการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ. – สำนักข่าวไทย