กำชับพัฒนาคุณภาพชีวิตปชช.ตอนเหนือ

แม่ฮ่องสอน 13 มิ.ย.-“พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ ตามแก้ปัญหาน้ำ ที่ดิน ไฟป้า PM 2.5 กำชับเร่งช่วยเหลือปชช.เร็ว พัฒนาคุณภาพชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้ ลดเหลื่อมล้ำตามนโยบายรัฐบาล


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคเหนือที่จ.แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาน้ำ ที่ดินทำกินเกษตรกร ไฟป่า PM 2.5 โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจัวหวัดแม่ฮ่องสอนและข้าราชการร่วมให้การต้อนรับ โดยรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบัน จำนวน 7.6 ล้านลบ.ม.คิดเป็น ร้อยละ56.37 ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมา และเพียงพอต่อความต้องการในปี2565 ส่วนเป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีราษฎรได้รับการจัดสรรที่ดินคทช. ครอบคลุม 7อำเภอ จำนวน 21,615คน และผลการป้องกันไฟป่าปี 2565 พบว่ามีจุดความร้อนลดลง 6,731 จุด คิดเป็นร้อยละ 56.35 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยในปีนี้ จุดความร้อนสะสมเกิดขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 6ปี และสำหรับค่าPM 2.5 ปี 2565 บรรลุเกินเป้าหมาย (ค่าเกินมาตรฐาน37วันจากที่กำหนด39วัน)


พล.อ.ประวิตร  กล่าวชื่นชมการทำงานและมอบนโยบายสำคัญ โดยเน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกส่วนราชการเร่งบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชน อย่างทันท่วงที ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้ พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชน ให้ทั่วถึงด้วย

จากนั้น พล.อ.ประวิตรและคณะเดินทางไป สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 5 แห่งให้แก่ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายที่ดินจ.แม่ฮ่องสอน และมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล(คทช.) ให้กับตัวแทนชุมชนจำนวน 4 คน โดยพล.อ.ประวิตรฯ มอบนโยบาย กำชับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดิน จ.แม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคม พร้อมทั้งให้นำแนวทางสหกรณ์ มาใช้บริหารจัดการในพื้นที่คทช.ให้มีความต่อเนื่อง

พล.อ.ประวิตรและคณะเดินทางไปศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เยี่ยมชมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ และพบปะประชาชน ก่อนเดินทางต่อไปยังจ.เชียงใหม่เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยชาวบ้านตลอดแนวโครงการเพิ่มปริมาณต้นทุนน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันแม่น้ำยวมตั้งแต่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนและปากอุโมงค์ผันน้ำ ไปจนถึงชาวบ้านอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีอุโมงค์ยักษ์ขุดเจาะผ่าน ชาวบ้านอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นปากอุโมงค์ผันน้ำได้นัดกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากพล.อ.ประวิตรในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็น EIA ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและแอบอ้างชื่อชาวบ้าน

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ชาวบ้านสบเมยยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอสบเมย และชาวบ้านอำเภอฮอด ได้ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอฮอด ขณะที่ชาวบ้านอมก๋อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนไม่ให้นำดินจากโครงการขุดเจาะอุโมงค์ผันแม่น้ำยวมมากองทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทั้งนี้ หนังสือระบุว่าสืบเนื่องจากที่กรมชลประทานผลักดันโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) ได้ EIA โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้จัดทำตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรายงานดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.) โดยสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในเดือนกรกฎาคม 2564  ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ และประชาชน ที่ได้ส่งเอกสารทักท้วงมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี

หนังสือระบุว่า เดือนกันยายนปีเดียวกัน รายงานEIA กลับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ และหน่วยงานตรวจสอบ มิได้มีการอธิบายข้อกังวลของประชาชนอย่างเพียงพอ ต่อมากรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ ทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผลการศึกษาเบื้องต้นที่มีการจัดเวทีที่เปิดเผยต่อสาธารณะล่าสุดระบุว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการสูงถึง 172,220 ล้านบาท

หนังสือระบุว่า เครือข่ายประชาชนฯ ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้นับตั้งแต่เสนอโครงการ ระหว่างการจัดทำรายงาน EIA โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ส่งหนังสือร้องเรียนหลายฉบับอย่างต่อเนื่องถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน คณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของโครงการ และข้อบกพร่องหลายประการของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่มีล่ามแปลภาษาท้องถิ่นให้ชาวบ้านเข้าใจได้ การถ่ายภาพกับชาวบ้านและระบุว่ามีการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งที่ไม่มีการสัมภาษณ์แต่อย่างใด  ดังนั้น พวกเราชาวบ้านในฐานะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการมองเห็นความไม่ชอบธรรม ความไม่โปร่งใส ความไม่น่าเชื่อถือต่อกระบวนการพัฒนาโครงการและการจัดทำ EIA

หนังสือระบุเหตุผลที่คัดค้านว่า 1. ความไม่จำเป็นของการดำเนินโครงการนี้ ที่ที่ต้องการจะใช้ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำยวม สาละวิน ไปแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา ซึ่งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำควรใช้ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำนั้น ๆ 2. โครงการนี้จะมีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก และอาจจะต้องใช้งบประมาณของรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรและชลประทานที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาะเศรษฐกิจฝืดเคืองจากสภาวะการระบาดของโรคโควิด19 ต่อเนื่อง อาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์สาธารณะและจะเป็นการสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับประเทศ

3. ชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (ชาติพันธุ์กระเหรี่ยง) ที่มีภูมิลำเนาในป่ารอบต่อ 3 จังหวัด อยู่ในเขตพื้นที่ป่า มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและรายได้ ชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์มาตลอดหลายชั่วอายุคน แต่โครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียทั้งที่ดิน บ้านเรือน ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ลำห้วย และแม่น้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนของเรา ซึ่งหากเกิดผลกระทบจากโครงการนี้ ระบบนิเวศเปราะบางและทรัพยากรธรรมชาจชติจะไม่อาจฟื้นฟูกลับมาให้เป็นดังเดิมได้

“พวกเราเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ตลอดแนวพื้นที่โครงการ ทั้งเขื่อน สถานีสูบน้ำ แนวอุโมงค์ส่งน้ำ ปากอุโมงค์ส่งน้ำ จุดทิ้งกองดิน และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จำนวนอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอแสดงจุดยืนว่า พวกเราไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล-แนวผันน้ำยวม  ขอให้ท่านโปรดพิจารณาความคิดเห็นและข้อกังวลใจของพวกเราต่อโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง”หนังสือระบุ.-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี