ทำเนียบรัฐบาล 28 มี.ค.-“วิษณุ” ยอมรับบัตรเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียวอาจมีปัญหา รอ 30 มี.ค. ตัดสินในชั้น กมธ. ปัดสงสัยวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ใครติดใจก็ส่งเรื่องยื่นตีความเอา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีความเห็นต่างกรณีใช้บัตรเลือกตั้ง2ใบ แบบเขตเดียวเบอร์เดียวอาจขัดรัฐธรรมนูญ ม.90 หรือไม่ว่า เรื่องนี้ที่ผ่านมา เป็นความเห็นของ กกต.ซึ่งเคยชี้แจงแล้ว แต่หากใครเห็นว่าเป็นช่องทางที่ทำได้แล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจมีวิธีเขียนให้ดีได้ แต่เท่าที่คุยกันมีคนเสนอมีวิธีเขียนให้ดี เช่นวันแรกรับสมัครก่อนแบบเขตแต่ไม่ให้เบอร์ แล้ววันหลังจึงรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อแล้วค่อยให้เบอร์ และให้เบอร์ย้อนหลังกลับไปใช้ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า ทำได้หรือไม่ได้
เมื่อถามว่า การสมัครเสร็จแล้วไม่ให้เบอร์ จะถือว่าการสมัครเสร็จสิ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีนี้ที่จะเป็นปัญหา ที่ต้องนำไปสู่การตีความ
เมื่อถามว่า หากถามความเห็นส่วนตัว นายวิษณุคิดว่า การใช้เบอร์เดียวกับสองเบอร์ แบบใดจะสะดวกกับการเลือกตั้งมากกว่ากัน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีความเห็น เพราะอย่างไรก็เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบอยู่แล้ว จะมีปัญหาคือเรื่องจำเบอร์ง่าย หรือจำเบอร์ยาก แต่ตนเป็นคนจำเก่ง ก็เลยไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่า ได้คุยกับกรรมาธิการกฎหมายลูกบ้างหรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า ได้พูดคุย แต่ขออย่าเดากันไปเลย เพราะวันที่ 30 มีนาคมนี้ จะตัดสินในชั้นกรรมาธิการอยู่แล้ว ก็น่าจะทราบ
เมื่อถามว่า กรณีที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า หากมีปัญหาอาจสุ่มเสี่ยงถึงขั้นที่การเลือกตั้งอาจโมฆะได้ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อถึงเวลา กฏหมายเสร็จ ก็ต้องส่งให้ กกต.ดูอยู่แล้ว และ กกต.ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย
เมื่อถามว่า หากทำตามขั้นตอนนี้ ก็อาจทำให้ การเลือกตั้งเป็นโมฆะอาจเป็นได้ยากขึ้นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะรัฐธรรมนูญใช้คำว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการเสร็จ ต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือกกต. แต่ก็มีบทบัญญัติบางมาตราที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญด้วย
เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องการตีความการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลา มีเวลาอีก 4 เดือน
เมื่อถามว่า หน่วยงานใดจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน นายวิษณุ กล่าวว่า ใครที่สงสัย ก็สามารถส่งไปได้ ในส่วนของรัฐบาลไม่สงสัย และไม่ส่งไปตีความ ใครสงสัยก็ส่งไป
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ดำรงตำแหน่งต่อได้ จนกว่าจะมีคนสงสัย ก็ค่อยส่งเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความ ทั้งนี้ หากไม่มีใครสงสัยแต่ล่วงเลยเวลาไป แล้วมายื่นภายหลังจะมีผลย้อนหลังหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ศาลฯจะวินิจฉัยว่าจะมีผลย้อนหลังตามมาหรือไม่
เมื่อถามว่า เมื่อถึงเวลานั้น นายกฯจะสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้ คือต้องเริ่มนับหนึ่งตอนไหน เพราะเวลาสิ้นสุด เรารู้อยู่แล้ว ที่เป็นปัญหาอยู่ คือนับจากตอนปี 57 ปี 60 หรือปี 62
เมื่อถามว่า ส่วนตัวคิดว่าควรนับเวลาไหน นายวิษณุ กล่าวสั้นๆว่า “ผมไม่ตอบ”
นายวิษณุ กล่าวว่า กฏหมายเดิมเคยมีเขียนไว้ว่า 8 ปี ชัดเจนว่า นับจากวันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ แต่ฉบับนี้มีการระบุว่า ไม่ว่าจะต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม แต่ทั้งเก่าและใหม่ ไม่ให้ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี แต่รัฐธรรมนูญเก่าไม่กำหนดเวลาที่ครองตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ย้ำในตอนท้ายว่า ไม่ต้องเดาหรือ ตีตนไปก่อนไข้ เพราะต้องมีคนสงสัยและส่งให้ตีความอยู่ดี รอให้ถึงเวลานั้น ก็จบเรื่อง
เมื่อถามว่า หากถึงเวลานั้น นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกจะสามารถทำหน้าที่รักษาการต่อได้ใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รักษาการต่อได้เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่นับเวลารักษาการ ไม่ต้องห่วงแทน.-สำนักข่าวไทย