กทม. 21 มี.ค.- “ระวี” ห่วง งานกมธ. แก้กม.ลูกไม่ฟังเสียงพรรคเล็ก หลังเสนอเพิ่มที่ปรึกษากมธ. จากสัดส่วนพรรคเล็ก แต่ถูกปฏิเสธ
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ.. และพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมกมธ. 1 สัปดาห์ หลังจากที่พบว่า มี กมธ.ติดเชื้อโควิด-19 โดยเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาพิจารณาเนื้อหามากนัก อย่างไรก็ตาม การกลับการประชุมสัปดาห์หน้า ตนจะเสนอให้ที่ประชุมเชิญผู้ที่เสนอคำแปรญัตติในมาตรา ซึ่งตรงกับประเด็นที่กมธ. พิจารณา มาร่วมประชุมเพื่อประหยัดเวลาพิจารณา และสามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด คือ ช่วงปลายเดือนเมษายน นี้
นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียดของคำแปรญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอมายังกมธ.ทราบเพียงจำนวนผู้เสนอและจำนวนมาตราที่เสนอแก้ไขเท่านั้น อย่างไรก็ดีในการเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทราบเบื้องต้นว่ามี 3 สูตร คือ 1.สูตรของพรรคใหญ่ที่ใช้คะแนนพรรค หารด้วยสำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งจะทำให้มีผลลัพท์คะแนนต่อส.ส.1 คนที่ 3.7 แสนคะแนน ,2. สูตรที่เสนอแปรญัตติ ให้ใช้คะแนนพรรค หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ 500 คน เพื่อให้ได้ส.ส.พึงมี โดยมีคะแนน 7.4 หมื่นคะแนนต่อส.ส. 1 คน และ 3.สูตรพรรคเล็ก ให้นำคะแนนของบัญชีรายชื่อ หรือคะแนนพรรครวมกับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต หารด้วยจำนวนส.ส.ทั้งหมด คือ 500 คน เพื่อให้ได้ส.ส.พึงมี โดยจะได้คะแนน 1.5 แสนคะแนนต่อ ส.ส.1คน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการคำนวณนั้น กมธ.ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหา แต่เบื้องต้นสูตรที่เสนอแปรญัตติและสูตรพรรคเล็กนั้น มีส.ส.ประมาณ 30 เสียงสนับสนุน
นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานในกมธ.มีประเด็นที่ตนกังวล คือ กมธ.ที่มาจากพรรคการเมืองใหญ่ไม่ฟังเสียงข้างน้อย โดยก่อนหน้านี้ตนเสนอให้ที่ประชุมตั้งที่ปรึกษากมธ. โดยเสนอชื่อนายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่กมธ. ไม่เห็นด้วย พร้อมให้เหตุผลว่า กมธ.ทั้ง 49 คน มีจำนวนเยอะ และแต่ละคนเป็นเซียนทางกฎหมายแล้ว
“เหตุผลที่ผมเสนอเพื่อให้มีตัวแทนส.ส.พรรคเล็กร่วมสู้ในกมธ.ด้วย เพราะพรรคเล็กมีผมเพียงคนเดียว และได้สิทธิพูดแค่หนึ่งครั้ง ต่างจากพรรคใหญ่ และหากลงมติผมก็เป็นฝ่ายแพ้ แต่ผมเข้าใจว่าระบบประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ ดังนั้นหากแพ้ในชั้นกรรมาธิการ ยังมีชั้นของวาระสองในรัฐสภาไว้สู้ แต่หากชั้นรัฐสภาสู้ไม่ได้ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด ทั้งนี้ผมขอย้ำว่าการสู้ครั้งนี้ไม่ใช่สู้เพื่อตัวเองหรือพรรคเล็ก แต่คือการสู้กับวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ระบบเผด็จการรัฐสภา” นพ.ระวี กล่าว