กทม. 7 มี.ค.- รมว.มหาดไทย มอบนโยบาย ผู้ว่าฯ นายอำเภอ 25 จังหวัดภาคกลาง อุทัยธานี และนครสวรรค์ เน้นย้ำ บูรณาการทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนครัวเรือนกลุ่มเป้าหมาย พร้อมติดตามการพัฒนาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (7 มี.ค. 65) เวลา 09:00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคกลาง โดยมี คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 25 จังหวัดภาคกลาง อุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังทุกจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ โดยมี ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรับฟัง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน เพราะประเทศของเรายังมีคนที่อ่อนด้อยในสังคม ที่เราอาจเรียกว่ากลุ่มอ่อนด้อย กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจ แต่หมายความรวมถึงความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีเจตนาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นที่มาของการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” โดยกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการฯ ในระดับพื้นที่ (ทีมตำบล) โดยมี “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปรับทราบปัญหา หาทางแก้ไข จัดทำแผนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาครบแล้ว จะรายงาน ศจพ.อำเภอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือ โดยหน้าที่ในการแก้ปัญหาเป็นของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่และงบประมาณของหน่วยงาน ให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ตามแนวทางการแก้ไขปัญหารวม 5 ด้าน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยหากเป็นปัญหานอกเหนือจากแนวทางดังกล่าว ให้ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่
“กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ ศจพ. โดย “ทุกกระทรวง/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง” คือผู้เดินหน้าแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าตามอำนาจหน้าที่และงบประมาณของหน่วยงานร่วมกับภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนเป้าหมายได้รับการแก้ไขได้อย่างตรงจุดและเป็นการแก้ไขด้วยเป้าเดียวกัน ทั้งนี้ “ความสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดอยู่ที่กลไกในพื้นที่ทั้งหมด” โดยเฉพาะแม่ทัพของพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทีมปฏิบัติการตำบล และ “ทีมพี่เลี้ยง” ต้องวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก ด้วยการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในลักษณะ Intensive care โดยที่ครัวเรือนต้องมีส่วนร่วมและไม่เป็นการบังคับให้ทำ ซึ่งพัฒนากรต้องสร้างความเข้าใจให้ทีมพี่เลี้ยงไปสำรวจให้รู้ปัญหา รู้แนวทางการทำงาน และวิเคราะห์ปัญหาออกมา พร้อมทั้งติดตาม ตรวจสอบ ดูแลอย่างใกล้ชิด และบันทึกในระบบ Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยนายอำเภอเป็นขุนศึกสำคัญที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหา ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 และหากปัญหาที่พบนอกเหนือจากเมนู ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่สามารถแก้ไขในระดับอำเภอได้ให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการหาช่องทางแก้ปัญหาให้ได้ และหากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบายให้รายงานกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้กับประชาชน ด้วยช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้ง Online Onsite Onground ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย หลาย ๆ ช่อง หลาย ๆ เวลา ทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ เพื่อปลายทาง คือ “พี่น้องประชาชนมีความสุข” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) บูรณาการทุกภาคส่วนรณรงค์ลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม สร้างจิตสำนึกด้วยความเพียรพยายาม “ทำให้คนขับรถมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน” คือ ทำตามกฎหมาย มีความระแวดระวัง มีความเอื้ออาทรในการใช้รถใช้ถนน เมื่อถึงทางคับขัน/ทางข้าม ต้องชะลอรถ “เมื่อมีคนทำท่าจะข้ามถนน ต้องหยุดรถทันที” โดยกำหนดให้วันที่ 21 ของทุกเดือนมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 2) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ลด Demand Side ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และ Supply Side ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง 3) บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยรณรงค์ประชาชนปฏิบัติตาม DMHTT อย่างต่อเนื่อง และสำหรับสถานที่ต่าง ๆ ให้ใช้มาตรการ COVID Free Setting ตามลักษณะสถานที่ พร้อมบริหารจัดการเตียงโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโซนสีเหลือง-แดง และศูนย์พักคอย (CI) การดูแลตนเองที่บ้าน (HI) สำหรับผู้ติดเชื้อโซนซีเขียว ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม 4) การจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณเสาไฟฟ้าในเบื้องต้น โดยเริ่มจากบริเวณจุดที่มีสภาพปัญหามากที่สุดตามลำดับ และในระยะยาว กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการ 5) บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (GG Framework) ในทุกระดับ ทุกกลไกในพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ที่ “คนมหาดไทย” ซึ่งมีจิตวิญญาณในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อยากบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน ดังนโยบาย “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งคนที่ทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากไร้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งต้องมีทัศนคติ (Attitude) ต่อการทำหน้าที่ มีความรู้ (Knowledge) ความสามารถ (Ability) เมื่อ Knowledge x Ability x Attitude = Success (ความสำเร็จ) ดังนั้นผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องเป็นผู้นำ ปลุกเร้าจิตใจทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล และทีมพี่เลี้ยง ให้มีจิตใจที่อยากช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในสังคม พร้อมทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าคำว่า “ยากจน” คือ “ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เขาประสบอยู่ในทุก ๆ เรื่อง และเขาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง” เช่น ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย ลูกหลานติดยาเสพติด เป็นหนี้นอกระบบ โดย “นายอำเภอ” ต้องเข้าใจงานและไปสร้างทีม ทำให้ทีมเข้าใจตรงกัน และกำหนดให้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นวาระสำคัญของจังหวัด อำเภอ บูรณาการกลไก/เครือข่ายในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ด้วยแนวทาง 2 มิติ คือ “มิติยาฝรั่ง” (ทำให้อยู่รอด) ไม่เดือดร้อน ทำให้มีบ้าน ได้เรียนหนังสือ มีปัญหาขอรับความช่วยเหลือได้ทันที โดยส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ และ “มิติยาไทย” (ทำให้ยั่งยืน) ด้วยการส่งเสริมทักษะ วิธีการ แนวทางในการแก้ปัญหา ตามแนวทาง “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้วิธีการพัฒนาตนเอง อาทิ การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย เพื่อช่างทอผ้ามีรายได้จุนเจือครอบครัว เลี้ยงดูลูกหลาน การปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นทางอาหาร เพื่อเป็นแหล่งอาหารประทังชีวิต เป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค มีกิน มีใช้ ด้วยการพึ่งพาตนเอง เป็นครูจิตอาสา และครูพาทำ ให้ผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาสทางสังคมที่อยู่ในพื้นที่ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง รู้จักเก็บหอมรอมริบ เพื่อสามารถตั้งตัวได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเนื่องในวาระมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ต้องทำให้พี่น้องคนไทยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ ถวายเป็นพระราชกุศล ให้แล้วเสร็จภายใน 12 ส.ค. 65
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวอีกว่า ภาคีเครือข่ายที่สำคัญตามระเบียบ มท. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้อปท. ทั้ง 7,849 แห่ง จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยจัดทำป้ายที่ชัดเจน บริเวณริมรั้วที่ทำการ พร้อมหมายเลขติดต่อ รวมทั้งให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวก รวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหา โดยบูรณาการทรัพยากร เช่น เงินทุนหมุนเวียนตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลตำบล มาแก้ปัญหา และผู้ว่าฯ ต้องรายงานผลการขับเคลื่อนให้กระทรวงต้นสังกัดของส่วนราชการนั้น ๆ พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค มายังกระทรวงมหาดไทยทุกเดือน เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
“ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ต้องลงพื้นที่ไปให้กำลังใจ ไปพบปะ ไปดูการทำงานของทีมพี่เลี้ยงในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดการนิเทศ ติดตาม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้งานเกิดความสำเร็จมากยิ่งขึ้น อันจะบังเกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน เมื่อทุกคนร่วมมือร่วมใจทำ พี่น้องคนไทยจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง นอกจากนี้ ต้องใช้กลไกประชาสัมพันธ์จังหวัดในพื้นที่ ทำให้สังคมได้ทราบว่า พวกเรากำลังสำรวจสภาพปัญหาและค้นหาประชาชนผู้เดือดร้อนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการรับรู้เข้าใจ และเกิดการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนได้ช่วยกันแจ้งมายังศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 รวมถึงผ่านช่องทาง onsite โดยทีมผู้ว่าฯ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อปท. ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงต้องทำให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าใจ เพื่อรับเรื่องราว และจำแนกปัญหา ส่งต่อให้ ศจพ.อำเภอ/จังหวัด ไปตรวจสอบ ช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย .-สำนักข่าวไทย