รัฐสภา 17 ก.พ. – “นิพนธ์” รมช.มหาดไทย แจงสภาฯ กรมที่ดินไม่ประวิงเวลาเพิกถอนที่ดินเขากระโดง แต่การรถไฟฯ ไม่ยอมร่วมชี้แนวเขตรังวัดที่ดิน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงในการประชุมสภาฯ วาระการอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ว่า ตั้งแต่ปี 2544-2564 กรมที่ดินมีโฉนดที่ดิน 35 ล้านแปลง เนื้อที่ดินประมาณ 101 ล้านไร่, โฉนดตราจอง 4.4 หมื่นแปลง เนื้อที่ดิน 1.2 แสนไร่, มีตราจอง 3.5 หมื่นแปลง เนื้อที่ดิน 1.1 แสนไร่, มี น.ส.3 ก. 2.9 ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 13 ล้านไร่, น.ส.3 จำนวน 1 ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 9 ล้านไร่ และใบจอง จำนวน 1.5 แสนแปลง เนื้อที่ดิน 1.5 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 39 ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 126 ล้านไร่ กรมที่ดินพยายามกระจายการถือครองที่ดินไปยังส่วนต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนมือบ้าง แต่กรมที่ดินพยายามดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชน ส่วนที่อภิปรายคือ กรณีที่ดินเทือกเขาบูโด เดิมประชาชนมีปัญหากับกรมอุทยานฯ เป็นพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน แต่หลังจากการแบ่งเขตชัดเจนในส่วนพื้นที่ของรัฐ, ประชาชนครอบครอง กรมที่ดินได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ภาคใต้ มีมติเมื่อปี 2557 เดินสำรวจพื้นที่บูโด-สุไหงปาดี สามารถออกโฉนดให้ประชาชนได้ รวมทั้งสิ้น 9.4 หมื่นแปลง รวมเนื้อที่ 1.68 แสนไร่ ทั้งนี้ การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 14 ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 70 ล้านไร่ และยังเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนต่อเนื่อง รวมถึง 3 จังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้
นายนิพนธ์ ชี้แจงถึงประเด็นการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดิน เลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ด้วยว่า กรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ปัจจุบันการตรวจสอบที่ดินของการรถไฟฯ เนื้อที่ 5,083 ไร่ และการเพิกถอนสิทธิที่ดินทุกแปลงที่ออกทับที่ของการรถไฟฯ นั้น กรมที่ดินมีหนังสือ 12 พฤศจิกายน 2564 กรมที่ดินได้เชิญการรถไฟฯ ร่วมรังวัดที่ดิน แต่การรถไฟฯ มีหนังสือ 9 ธันวาคม 2564 ให้กรมที่ดินเพิกถอนตามแนวแผนที่ที่ใช้อ้างอิงในศาล ทั้งนี้ แผนที่ที่อ้างนั้น ไม่สามารถยืนยันกับการรังวัดได้ และไม่เกี่ยวกับกรมที่ดิน เนื่องจากผูกพันกับคู่ความ
“กรมที่ดินยืนยันว่า ตามแผนที่ที่ปรากฏนั้น เนื้อที่ที่ดินมี 4,745 ไร่ 1 งานเท่านั้น ขาดอีกกว่า 200 ไร่ ที่การรถไฟฯ ได้แจ้งว่ามีเนื้อที่ดิน 5,083 ไร่ ดังนั้น ส่วนต่าง 200 ไร่ ต้องได้รับความร่วมมือจากการรถไฟฯ เพื่อร่วมชี้แนวเขต แต่ขณะนี้ทราบว่า การรถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 เมื่อใช้สิทธิทางศาล แต่กรมที่ดินไม่ได้รับหมาย หรือสำเนาคำฟ้อง หากได้รับแล้ว จะทำคำชี้แจงไปศาลปกครอง เชื่อว่าจะนำไปสู่การทำแผนที่ร่วมกัน และทำให้เป็นไปตามขั้นตอนของศาล” นายนิพนธ์ ชี้แจง
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ใช้สิทธิพาดพิง พร้อมอภิปรายว่า การรถไฟฯ ฟ้องประชาชน จนศาลฎีกาตัดสิน และที่ดินแปลงอื่นๆ อีก 800 โฉนด จึงไปฟ้องที่ศาลปกครอง แทนศาลยุติธรรม ทั้งที่ตัดสินเป็นแนวบรรทัดฐานแล้ว หรือเป็นเพราะต้องฟ้องโดยระบุชื่อในโฉนด เช่น รัฐมนตรีหรือญาติของรัฐมนตรีหรือไม่ ทำให้ฟ้องกับกรมที่ดิน โดยมีคำวินิจฉัยของเขตอำนาจศาลชัดเจนว่าเป็นเขตอำนาจของศาลใด ส่วนกรมที่ดินไม่ยอมเพิกถอนอาจเป็นข้ออ้างที่เป็นมุมมองทางกฎหมายต่างกัน เพราะแนวเขต 4,000 ไร่ ถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และเป็นที่ดินทั้งแปลง ไม่ใช่รายโฉนด. – สำนักข่าวไทย