รัฐสภา 19 ม.ค.-สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ พ.ร.ก.แก้ พ.ร.บ.ควบคุมสารต้องห้ามฯ ด้าน รมว.ท่องเที่ยวฯ ย้ำความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก. ยันประสานทุกฝ่ายแก้สอดคล้องกฎวาดาแล้ว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตราพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก(วาดา) โดยนิยามคำว่า สารเสพติด ให้สอดคล้องกับสากล ให้คณะกรรมการสารต้องห้ามตัดขาดจากอำนาจรัฐ และกำหนดให้โทษทางกีฬา ไม่ใช่โทษทางอาญา เพื่อให้ไทยได้รับสิทธิจัดการแข่งขันในระยะเวลาอันใกล้หลายรายการ และสามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬา ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่สมาชิกบางส่วนอภิปรายเห็นด้วยกับร่างพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่มองว่ารัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ช้าเกินไป ทั้งที่ทางวาดา ได้แจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตั้งแต่ปลายปี 2563 จนเกิดความเสียหายกับประเทศอย่างมาก ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษเร่งด่วนออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งขั้นตอนที่ถูกต้องควรออกเป็นพระราชบัญญัติ และมองว่ารัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะเป็นความเสียหายที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ได้ฝากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเพื่อให้พร้อมกับเงื่อนไขของทางวาดาภายในเดือนกันยายน ปี2565
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เพราะหากไม่แก้ไขข้อพิพาททั้งหมด จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสหลายด้าน อาทิ ไทยจะแข่งขันฟุตบอลที่ออกโปรแกรมการแข่งขันโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า แต่ทีมชาติไทยไม่สามารถจัดทัวร์นาเมนต์ใด ๆ ได้ หากไม่เร่งแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน ซึ่งการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เชื่อว่าจะสร้างโอกาส สร้างรายได้สร้างความภูมิใจให้กับคนไทยอย่างมาก
นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่ออกกฎหมายฉบับนี้เป็นพระราชกำหนด เพราะถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบเป็นเรื่องเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาสาระไม่เป็นไปตามที่องค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลกต่อวงการกีฬาไทย หรือที่วาดากำหนดเรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อควบคุมการใช้สารกระตุ้นเพราะตามกฎหมายที่เสนอนี้ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย ถือว่าไม่อิสระอย่างแท้จริง จึงเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลควรปล่อยให้กฎหมายนี้ตกไปแล้วเสนอกลับเข้ามาใหม่เป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการพิจารณา 3 วาระรวดตั้งกรรมาธิการเต็มสภา และเชื่อว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ 3 เดือนน่าจะเสร็จทัน
“การเสนอกฎหมายวันนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด กระบวนการที่ทำท่านกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านไม่สบายใจที่จะทำผิด สาระก็ไม่อิสระ เกรงว่าแก้ปัญหาหนึ่งจะไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง ไม่จบ แต่เรามีทางออกให้ วันนี้ไปตกไปแล้วเสนอมาใหม่เป็นพระราชบัญญัติ เราสัญญาในวันนี้เลยว่าฝ่ายค้านพร้อมให้ความร่วมมือตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ในระยะเร็วที่สุด แล้วจะได้กฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกัน” นายสุทินกล่าว
ขณะที่นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยชี้แจงแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ว่าทุกประเด็นที่แก้ไขตามพระราชกำหนดนี้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ประสานกับทุกฝ่าย ทั้งวาดาและฝ่ายกฎหมายสอดคล้องกับกฎหลักของวาดาทุกประการ จะไม่เป็นปัญหาว่าเมื่อออกกฎหมายนี้ไปแล้วจะไม่สามารถปลดล็อคได้ และจากการประสานล่าสุดว่าได้ตอบกลับมาแล้วว่าทุกสิ่งที่ใช้ดำเนินการเป็นไปตามกฎ และเป็นที่ยอมรับของวาดาแล้ว และวาดาเตรียมที่จะประชุมปลดล็อคไทยอย่างช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา งชี้แจงว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ติดตามงานทำงานร่วมกับวาดาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเร่งนำเอกสารที่มีการติดต่อกับวาดาทั้งหมด จัดส่งไปยังคณะกรรมาธิการการกีฬาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว พร้อมย้ำว่า ไม่ได้มีการพูดลอย ๆ เพียงข้างเดียว ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยและกระทรวงฯ มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อดูในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อเดินหน้าแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการกีฬาแห่งประเทศไทย จะเดินทางเข้าร่วมประชุมกับวาดาในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ที่ประเทศดูไบ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบพระราชกำหนดฉบับนี้ด้วยคะแนน 230 ต่อ 118 เสียง งดออกเสียง 3 เสียงไม่ลงคะแนน 2 เสียง.-สำนักข่าวไทย