กรุงเทพฯ 15 ธ.ค. – “อนุชา” แนะ สคบ.จับมือภาคเอกชนศึกษาต้นทุนทางธุรกิจรอบด้าน คำนึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ก่อนออกประกาศธุรกิจให้เช่าซื้อรถ
วันนี้ (15 ธ.ค.) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือมุมมองผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และผลกระทบจาก (ร่าง) ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. … โดยมีนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เข้าร่วม
การหารือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่กลุ่มผู้ประกอบการได้เคยเข้าหารือเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ต่อข้อกังวลของทางสมาคมฯ ต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว ที่ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศฯ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยมีข้อกังวลเรื่องการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ที่อัตรา 15% ซึ่งภายหลัง สคบ.ปรับตัวเลขเป็น 20% แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน และมองว่าภาครัฐอาจเสียผลประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี รวมถึงอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ทำให้กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ ขณะเดียวกัน จะสร้างนิสัยให้ผู้บริโภคพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ และเกิดปัญหาสังคมตามมา นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อมาตรการคืนรถจบหนี้ มาตรการให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาด (ติ่งหนี้) และมาตรการให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดในกรณีปิดบัญชี ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการเช่นกัน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ในการช่วยเหลือให้ทุกภาคส่วนอยู่รอดได้อย่างสมดุล ต้องคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ดังนั้น จึงขอให้ทั้งทาง สคบ. และกลุ่มผู้ประกอบการ กลับไปทบทวนต้นทุนทางธุรกิจ นำมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศฯ อีกครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ขอให้ภาคเอกชนเห็นใจประชาชนที่ประสบความยากลำบาก บางคนขาดโอกาสในการดำรงชีวิต เช่น การเป็นเจ้าของยานพาหนะ ซึ่งหากภาคเอกชนเข้าใจส่วนนี้จะเปรียบเสมือนการหยิบยื่นโอกาสให้พวกเขาสามารถนำไปใช้ดำรงชีวิตได้. – สำนักข่าวไทย