กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดี “พล.ต.ท.สุรเชษฐ์” ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกฯ หลังไม่พิจารณาให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ระหว่างพิจารณาคดีมีคำสั่งย้ายกลับ สตช. ในตำแหน่งเทียบเท่าผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงหมดเหตุของการฟ้องคดี
วันนี้ (20 ส.ค.) ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ฟ้องว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 ให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนและมีคำสั่งใหม่ แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาล
ศาลให้เหตุผลว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีจะรับฟังได้ว่า นายกรัฐมนตรีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติงานในสังกัด สตช. และต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้โอนกลับไปรับราชการในสังกัด สตช. ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ.9) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดสิ้นไป ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้นายกรัฐมนตรีไปดำเนินการเพื่อมีคำสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติงานในสังกัด สตช. ซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมได้อีก
ส่วนการกระทำละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี อันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 เป็นคำสั่งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มิใช่คำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นายกรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาใหม่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาใหม่ และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์. – สำนักข่าวไทย