ทำเนียบรัฐบาล 5 ก.ค.-ผอ.ศปก.ศบค. เตรียมเสนอครม.อนุมัติซื้อไฟเซอร์ พรุ่งนี้ ส่วนข้อเสนอฉีดเข็ม 3 ให้ด่านหน้า ขอให้รอความเห็นสธ.
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการออกประกาศผ่อนคลายมาตรการแรงงานก่อสร้าง ว่า เป็นไปตามคำขอของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมที่เสนอแนะมา ซึ่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศปก.ศบค.หารือกันแล้วเห็นว่าเหมาะสมให้ผ่อนคลาย เพราะบางกิจการถ้าปิดไซต์ก่อสร้างไปนาน ๆ อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยได้ จึงเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
ส่วนการประชุมในสัปดาน์นี้จะผ่อนคลายหรือเข้มงวดมาตราการใดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอฟังกระทรวงสาธารณาสุขอยู่ โดยจะประเมิณสถานการณ์และพิจารณามาตรการว่าหากเข้มงวดมาตราการขึ้นจะทำให้การติดเชื้อลดลงหรือไม่ จึงต้องดูกันในรายละเอียด เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผู้ประกอบการเดือดร้อน แต่หากฝั่งกระทรวงสาธาณสุขสั่งให้เข้มงวดยิ่งขึ้น จะต้องฟังกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกระทบเศรษฐกิจระยะยาวมากยิ่งขึ้น การประชุมในห้วงสัปดาห์นี้ยังไม่เพิ่มมาตรการในร้านเสริมสวย
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเสนอขอให้มีการผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 กรณีคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จำเป็นผ่อนคลายมาตรการให้กับธุรกิจก่อสร้าง เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยุดก่อสร้างเป็นเวลานาน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัย โดยนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการตั้งแต่วันที่มีการประชุม จึงทำให้การแจ้งมาตรการผ่อนคลายล่าสุด จึงมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
ส่วนกรณีลักลอบเปิดสถานบันเทิงแบบส่วนตัว ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงให้ช่วยกำกับดูแล โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จับกุมดำเนินคดีในบางพื้นที่ ยอมรับว่า การลักลอบยากตรวจพบ หากประชาชนพบ ให้แจ้งมายังศบค.ได้ทันที
เมื่อถามถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนระบุว่าเกิดข้อติดขัดจากรัฐบาล ทำให้มีปัญหาความล่าช้าการจัดหาวัคซีนทางเลือก พลอ.ณัฐพล กล่าวว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(3 ก.ค.) มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหารือเรื่องการนำเข้าทั้งในส่วนของโมเดอร์นาและไฟเซอร์ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแล้ว แต่ต้องขออภัยเนื่องจากมาตรการการดำเนินการต้องระมัดระวังในแง่ของกฎหมายด้วย เนื่องจากหากมีข้อผิดพลาด หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องรับผิดชอบด้วย
“วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ กรมควบคุมโรคได้เร่งรัดจัดหาเพื่อเป็นวัคซีนหลัก ส่วนวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้เร่งรัดจัดหาเป็นวัคซีนทางเลือก หากสำนักงานอัยการสูงสุดตอบมา จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พรุ่งนี้ และเดินหน้าต่อไป ส่วนแนวโน้มที่จะให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ของบุคลากรด่านหน้า ต้องรอความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากประเด็นเพิ่งเกิดช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และศบค.ต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เพราะแม้กระทั่งข้อคิดเห็นจากแพทย์ในกระทรวงยังมีความคิดเห็นต่างกัน จึงต้องฟังข้อสรุปจากที่ประชุมสาธารณสุขเป็นหลัก” ผอ.ศปก.ศบค. กล่าว
ส่วนกระแสที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรด่านหน้า เพราะเกรงจะถูกมองว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขอให้ไปถามกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถตอบแทนได้ และอาจแถลงในประเด็นที่สำคัญเวลา 13.00 น.
“การบริจาควัคซีนไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกาให้ไทย ซึ่งได้รับจัดสรรมา 1.5 ล้านโดส มีแนวคิดจะจัดสรรให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ ร้อยละ 20 โดยขอให้สังคมเข้าใจ เนื่องจากเป็นการป้องกันโรคโดยรวมของประเทศและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค” ผอ.ศปก.ศบค. กล่าว
พล.อ.ณัฐพล ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงการปรับแผนยุทธศาสตร์รับมือการแพร่ระบาด ว่า ขณะนี้ ระบบเวบ EOC ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีเป้าหมายหลักรองรับการสั่งการในภาวะฉุกเฉิน ภายใต้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ เนื่องจากปัจจุบันสิงคโปร์และมาเลเซียได้ปรับยุทธศาสตร์เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปรับตามสิงคโปร์และมาเลเซีย เนื่องจากเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมต่างกัน ฝ่ายวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอของนพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าวิชาสาขาโรคระบบหายใจและวัณโรคภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เสนอการจัดยาฟาวิพิราเวียร์ให้คนไข้โดยเร็ว ว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอมาพิจารณา 2 ประเด็น คือการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้บางพื้นที่ใช้ยาสามัญประจำบ้าน ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มอาการเบาบาง ส่วนแนวคิด Home Isolation เมื่อวานนี้(4 ก.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารหารือ โดยให้ทางกรุงเทพมหานครเร่งทำระบบ Home Isolation ที่มีมาตรฐานยอมรับได้ และจัดตั้ง Comunity Isolation หรือโรงพยาบาลสนามในชุมชน
“แต่มาตรฐานอาจไม่เท่ากับโรงพยาบาลสนามหลัก และในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องนำผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในระบบให้ได้ และประสานโรงพยาบาลเอกชนรับตรวจ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนก็ห่วงเงื่อนไขเดิมที่ระบุว่าเมื่อตรวจพบจะต้องรับผู้ป่วยเข้ารักษา แต่เมื่อจำนวนเตียงมีจำกัดโรงพยาบาลเอกชนจึงหนักใจที่จะตรวจหาเชื้อ ยอมรับว่าคนที่มีความกังวลว่าจะติดแล้วมาตรวจก็พบว่าติดเชื้อ จึงต้องพยายามเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามาตรวจ” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่าผู้ติดเชื้อมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ คนที่เดินไปตรวจที่โรงพยาบาล จุดตรวจหาเชื้อของทางกรุงเทพมหานคร 6 จุด และการค้นหาเชิงรุกในชุมชน ซึ่งจะต้องนำผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มเข้าสู่ระบบการรักษาให้ได้ ซึ่งตั้งเป้าว่าผู้ป่วยทั้ง 100 % ต้องเข้าสู่ระบบทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการจะเข้าสู่ระบบ Home Isolation แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้ ต้องดูเรื่องความเหมาะสมสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย โดยหากอาการไม่รุนแรงทางโรงพยาบาลเอกชนต้องจัด Home Isolation แต่หากประเมินว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสมให้ส่งมายัง Comunity Isolation ของกรุงเทพมหานครซึ่งจะเร่งจัดตั้ง 20 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร.-สำนักข่าวไทย