ทำเนียบ 25 พ.ค.-ครม. รับทราบผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2 ล้านครัวเรือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยดำเนินการไปแล้ว จำนวน 125,162 โครงการ วงเงินงบประมาณ 314,182 ล้านบาท มีแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 1,138 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,274,737 ครัวเรือน โดยเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค , การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน ลดความเสี่ยงจากภัยด้านน้ำลง 50% เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ พัฒนาบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จัดทำผังน้ำทุกลุ่มน้ำ ขุดลอกลำน้ำ 6,271 กิโลเมตร ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ แก้มลิง เป็นต้น ,การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง ,การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพ 3.52 ล้านไร่ และป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่เกษตรลาดชัน 21.45 ล้านไร่ และการบริหารจัดการ โดยการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และจัดทำกฎหมายลำดับรอง 12 ฉบับ
นายอนุชา กล่าวว่า ผลการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชน ปัจจุบันมีแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวน 140,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดูแลรักษา พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนของตนเองได้
ส่วนผลการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ตั้งแต่ปี 2559 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เห็นชอบต่อแผนงานโครงการดังกล่าว รวมจำนวน 38 โครงการ ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 629 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ได้รับประโยชน์ได้ 1.4 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 312,612 ครัวเรือน แบ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณแล้วจำนวน 23 โครงการ ครม.เห็นชอบแล้วและอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 11 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 โครงการ
นายอนุชา กล่าวว่า สทนช. กำหนดเป้าหมายต่อไป คือ ขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็กและการจัดการแหล่งน้ำระดับชุมชน โดยมีเป้าหมายพื้นที่เกษตรน้ำฝนจำนวน 14.68 ล้านไร่ ประกอบด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน การเติมน้ำใต้ดิน การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ ขุดเจาะบ่อบาดาล ทำแก้มลิง รวมทั้งการขับเคลื่อนแผนงานโครงการสำคัญและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริภายในปี 2566 รวม 526 โครงการ ประกอบด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 151 โครงการ โครงการขนาดใหญ่จำนวน 106 โครงการ และกลุ่มโครงการสำคัญที่สอดคล้องตามนโยบายการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ รวม 269 โครงการ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 3,172 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 6.5 ล้านไร่ และผันน้ำได้ปริมาณน้ำเพิ่ม 3,841 ล้าน ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ได้เพิ่ม 4.3 ล้านไร่.-สำนักข่าวไทย