รัฐสภา 18 ก.พ. -โฆษกภท. นำปลัดคมนาคม -ผู้ว่าฯ รฟท.แจงประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมโต้ “ทวี หลังอภิปรายพาดพิงที่รถไฟเขากระโดง
นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงข่าวชี้เเจงกรณีที่ดินเขากระโดง ที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันถือครองบุกรุกและพักอาศัยในพื้นที่สมบัติของแผ่นดิน หรือพื้นที่สงวนหวงห้าม ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม ที่รถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยนายนิรุฒ กล่าวว่า นายศักดิ์สยามได้ชี้แจงในห้องประชุมสภาไปครบถ้วนแล้ว แต่ขอย้ำในเรื่องการบริหารจัดการที่ดินของรฟท.ที่มีจำนวนมหาศาลแต่สามารถนำมาใช้ทำกินและเป็นเงินเป็นทองได้อยู่ประมาณ 5,000 กว่าไร่ และยังเหลือที่ดินที่มีศักยภาพและสามารถนำมาทำมาหากินได้อีกเกือบ 50,000 ไร่ หมายความว่าเราต้องการมืออาชีพอย่างแท้จริงที่จะมานำทรัพย์สินนี้มาเป็นประโยชน์ต่อรัฐจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดบริษัทลูกขึ้นมาบริหารสินทรัพย์ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการมีบริษัทลูก ตนขอย้ำว่าบริษัทลูกจัดตั้งขึ้นมาบริหารงานอย่างมืออาชีพ เพื่อบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำนวนมหาศาลตามที่ รัฐมนตรีได้ชี้แจงตัวเลขไว้
ส่วนการบริหารจัดการที่ดินในส่วนที่มีข้อพิพาทการรถไฟเองเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ไม่ใช่เอกชนที่อยากจะพิพาทกับใครก็ได้ หรือฟ้องร้องใครก็ได้ และการที่เราเป็นองค์กรของรัฐ การจะนำคดีไปสู่ข้อพิพาทหรือขึ้นสู่ศาลนั้นจะต้องมีเหตุผล มีข้อมูล ที่จำเป็นและหนักแน่น ไม่ใช่จะไปบอกว่าประชาชนถือโฉนดอยู่แล้วไปบอกว่า โฉนดนั้นเป็นของเราแต่ต้องมีขั้นตอน ขอย้ำว่ารฟท.มีขั้นตอนในการดำเนินการและปฏิบัติตามมาตลอดนับ 10 ปีไม่ใช่เพิ่งจะมาปฏิบัติและปฏิบัติด้วยความรอบคอบเป็นธรรม และขอย้ำทุกอย่างดำเนินตามกฎหมายครบถ้วน สมบูรณ์ทุกประการ
นอหจากนี้ยังได่ชี้เเจงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชวงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และแผนงานคัดเลือกครั้งใหม่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 จนถึงการยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ เพื่อเริ่มการคัดเลือกใหม่ ดังนี้
1) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้เห็นชอบประกาศเชิญชวน และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ซึ่งรวมถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะโดยพิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุน และผลตอบแทนแยกจากกัน (เกณฑ์การประเมินเดิม) ซึ่งรฟม. ได้ออกประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระหว่างวันที่ 10 – 24 กรกฎาคม 2563 โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย
2) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ได้มีประกาศเรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยใน ข้อ 4(8) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์ และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้าน ทั้งด้านคุณภาพ และด้านราคา (Price-Performance) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 แจ้งว่าการพิจารณาวิธีประเมินข้อเสนอเป็นหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ
ในการนี้รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทบทวนปรับปรุงจากเกณฑ์การประเมินเดิม โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุด มาเป็นวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคควบคู่ด้านผลตอบแทน และการลงทุน (เกณฑ์การประเมินใหม่) ดังนี้
• กรณีปัญหาและผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ผ่านมาเช่น กรณีน้ำใต้ดินรั่วซึมเข้าสถานีสามยอด ขณะก่อสร้างสถานีใต้ดินสายสีน้ำเงิน ความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนประชาชนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง โครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งล้วนมีปัญหามาจากการออกแบบและเทคนิคก่อสร้างทั้งสิ้น
• สายสีส้มส่วนตะวันตก ต้องก่อสร้างลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น (ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์) ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ (ประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่) ย่านเมืองเก่า (ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง โรงละครแห่งชาติลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รพ.ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี) นอกจากนี้ยังผ่านพื้นที่ซึ่งมีโบราณสถานและอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งหากประสบปัญหาจากเทคนิคก่อสร้างที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
3) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 รฟม. ได้นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกรายแจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอจากเกณฑ์การประเมินเดิม เป็นเกณฑ์การประเมินใหม่พร้อมทั้งขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
4) เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 และได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การประเมินใหม่ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 โดยสรุปให้ทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันยื่นคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563โดยสรุปขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
5) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นกำหนดวันรับซองเอกสารข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซองเอกสารข้อเสนอฯ รวม 2 ราย ทั้งนี้ก่อนถึงกำหนดเปิดซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 รฟม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือถึงเอกชนผู้ยื่นซองเอกสารข้อเสนอทั้ง 2 ราย แจ้งเลื่อนกำหนดเปิดซองเอกสารข้อเสนอจากกำหนดเดิมออกไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นประการใด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งใดๆ ในระยะเวลา 1 เดือน คณะกรรมการฯ ได้มอบให้รฟม. จัดเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ เสนอให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป
6) ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการฯ และ รฟม. ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ โดยประเมินกรอบระยะเวลาดำเนินการ ผลกระทบ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย อย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นโดยสรุปว่า จนถึงปัจจุบันระยะเวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าและขอสรุปทางคดีซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานออกไป ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ จนแล้วเสร็จที่ชัดเจนได้ประกอบกับซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย มีอายุ 270 นับจากวันยื่นซองข้อเสนอ หากยังคงรอข้อสรุปทางด้านคดีก่อน แล้วจึงดำเนินการคัดเลือกต่อไป อาจส่งผลให้ซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย ดังกล่าว สิ้นอายุลงก่อนที่กระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ จะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกการคัดเลือก และเริ่มการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ ในภายหลัง จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
ขณะที่กรณียกเลิกการคัดเลือก และเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯใหม่จะสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 – 8 เดือน กรอบระยะเวลาดำเนินการมีความชัดเจน จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิก ประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว โดยมอบให้รฟม.พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
7) การคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ รฟม.จะเร่งรัดให้เอกชนกระชับขั้นตอนการก่อสร้างและติดตั้งงานระบบไฟฟ้า เพื่อให้เปิดบริการเดินรถโครงการฯ ส่วนตะวันในเดือนตุลาคม 2567 และส่วนตะวันตก ในเดือนเมษายน 2570 ตามแผนงานเดิมได้
8) รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานีและสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย).-สำนักข่าวไทย