กทม. 26 พ.ย. – ครม.เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดเข้าสภา ชงยกเลิก “พืชกระท่อม” จากประเภท 5 “สมศักดิ์” ชี้ให้สอดคล้องกับหลักสากล-บริบทวิถีชาวบ้าน แจงประโยชน์ใช้ทำยาแก้ปวดแทนมอร์ฟีนได้ แถมราคาถูกกว่าเยอะ มูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ส่งออกได้ สร้างรายได้ให้ประชาชน ยันมีกฎหมายควบคุมไม่ให้ใช้ทางที่ผิด ป้องกันเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานการกระชุม วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทน ครม. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการ คือ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.ยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5
2.ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด (ยกเลิกมาตรา 58/2)
3.ยกเลิกบทกำหนดโทษและอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม (ยกเลิกมาตรา 75 วรรคสาม มาตรา 76 วรรคสอง มาตรา 76/1 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 92 วรรคสอง)
เหตุผล เนื่องจากปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1972 มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างกฎหมายนี้ คือ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น
1.ใช้ผลิตยาแก้ปวดทดแทนมอร์ฟีนได้ โดยมีกระท่อมจะมีราคาที่ถูกกว่ามอร์ฟีนมาก หากมีการส่งเสริมจะมีการลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศได้
2.สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม หากมีการส่งเสริมการนำพืชกระท่อมมาสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ หากเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียที่ส่งเสริมการปลูกและส่งออกไปยังสหรัฐ มีมูลค่าสูงมาก ในอัตราไม่เกิน 1.5 ล้านต่อเดือน ราคากิโลกรัมละ 16 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นข้อมูลของ ป.ป.ส.อินโดนีเซียน ที่เราได้รับมาตั้งแต่ พ.ศ.2562 แต่ปัจจุบันพืชกระท่อมของอินโดนีเซียตรวจพบสารปนเปื้อน จึงกระทบต่อการส่งออกพอสมควร
3.ลดความเป็นอาญา และลดภาระการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีข้อมูลว่าค่าใช้จ่ายในคดีหนึ่งประมาณ 76,000 บาทต่อคดี
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการตามข้อสังเกตกฤษฎีกาคณะที่ 10 มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเลิกพืชกระท่อมออกจากยาสเพติดประเภทที่ 5 ควรมีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะด้วย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกต กระทรวงยุติธรรมจึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม เพื่อกำหนดมาตรควบคุม ไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม และป้องกันไม่ให้นำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด และมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งกว่า 90% เห็นด้วย และล่าสุด ครม.มีมติอนุมัติในหลักการพืชกระท่อม ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับนี้แล้ว เราจะมีกฎหมายอีกฉบับที่ออกมาควบคุมพืชกระท่อมแทน. – สำนักข่าวไทย