รัฐสภา 17ก.ค.-“รังสิมันต์” เตรียมถกปัญหาใน กมธ.มั่นคงฯ ผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิง หาข้อยุติและปฏิบัติได้จริง มองหากเริ่มจัดการไทยได้ประโยชน์ ไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขออย่าเอาคำสอนผิดๆ มาดิสเครดิตกัน
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วยตัวแทนจาก คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมาธิการการแรงงาน, คณะกรรมาธิการกิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศและคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เครือข่ายเพื่อนสันติภาพกะเหรี่ยง เพื่อส่งข้อเสนอ และข้อมูล ให้พิจารณาเกี่ยวกับผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย-เมียนมา
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ประเด็นหลักสำคัญเป็นในเรื่องของผู้หนีภัยการสู้รบโดยเฉพาะในพื้นที่ที่พักพิงชั่วคราว บริเวณชายแดนไปกัมพูชา หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ของสหรัฐฯ ได้เกิดผลกระทบอย่างมากในเรื่องของการดูแลผู้หนีภัย การสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอยู่กันมานานแล้วมากกว่า 3 ทศวรรษ ถึงต้องยอมรับว่าเมื่อมีการตัดงบประมาณในการสนับสนุนก็จะเกิดข้อกังวลหลายประการในเรื่องของการดูแลการจัดการมีข้อกังวล ไปถึงขั้นว่าคนเหล่านี้จะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่พักพิงได้อีกต่อไป
ดังนั้น คณะกรรมาธิการความมั่นคงและ คณะกรรมาธิการอื่นๆ ที่มารับหนังสือในวันนี้ จึงรับหนังสือจากตัวแทนที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคประชาสังคมที่มีการทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งในวันนี้กรรมาธิการความมั่นคงจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้โดยไม่มีการเชิญสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ด้วยซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การพิจารณาครั้งแรกเราเคยมีการพิจารณาทำนองนี้มาก่อนหน้านี้แล้วและทำรายงานการศึกษามาแล้ว ซึ่งหลังจากทำข้อเสนอต่างๆส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมต่อ ให้เกิดเป็นแนวทางที่ยุติและปฏิบัติได้จริง
ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า การบริหารจัดการเพื่อจัด ระเบียบการเปลี่ยนผ่านจากเงื่อนไขการพึ่งพาเดิม จึงมีความจำเป็น ที่จะนำข้อเสนอ และการศึกษา มาให้ช่วยพิจารณาและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงต่อไป 1. รัฐบาลไทยควรอนุมัติโครงการนำร่องเพื่อจัดระเบียบการออกมาทำงานของผู้หนีภัยการสู้รบในขอบเขตพื้นที่ชายแดนโดยเร่งด่วน 2 รูปแบบการจัดการควรมาจากการปรึกษาหารือระหว่างรัฐกับนายจ้างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรมนุษยธรรมและภาคประชาสังคมผู้ลี้ภัยในแต่ละท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงรูปแบบและสามารถนำไปสู่การขยายพื้นที่ต่อไปได้ในอนาคต 3. ให้ผู้หนีภัยเข้าถึงโอกาสการเป็นแรงงานได้จริงโดยระบบการจ้างงานจะต้องมีขั้นตอนน้อยที่สุดและไม่คิดค่าธรรมเนียมการทำบัตรประจำตัวกับใบอนุญาตทำงานจากผู้หนีภัยการสู้รบ 4 รัฐบาลควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่พักพิงทุกแห่ง 5 รัฐบาลควรประสานความร่วมมือกับ unhcr เพื่อสำรวจคัดกรองทำฐานข้อมูลทางทะเบียนให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นประชากรแฝงต่อไป
“เราไม่ควรนำเรื่องนี้ไว้ใต้พรมอีกต่อไป คณะกรรมาธิการความมั่นคงเคยได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ของพื้นที่พักพิงและรู้สึกว่าถึงเวลาที่จะต้องจัดการสักที ที่ผ่านมาผลักดันให้ไปอยู่ในประเทศที่ 3 แต่ข้อมูลประชากรในพื้นที่มีจำนวนมาก คนบางกลุ่มอาศัยเรื่องนี้เพื่อมาดิสเครดิต วันนี้ภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยที่มาจากต่างชาติยืนยันว่าไม่ใช่คนจากกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีเลยดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังและการจัดการครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์แน่นอนแต่การจัดการนี้จะเป็นการจัดการที่นำไปสู่ การที่ทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด ยืนยันผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของประชาชนที่หนีภัยการสู้รบสามารถไปร่วมกันได้ไม่จำเป็นต้องทิ้งใครหรือต้องผลักไสใครไปทั้งสิ้น อย่าเอาประเด็น ที่ถูกสอนกันมาผิดๆมาใช้ในการโจมตีหรือดิสเครดิตเลย” นายรังสิมันต์ กล่าว
ทั้งนี้ กรอบในการหารือหลักๆ ถึงต้องพูดกันตรงๆว่าจะดำเนินการอย่างไร เงินจากภาคเอกชน NGO ทั้งหลายถูกตัดออกไปแล้ว จึงต้องดำเนินการที่จะจัดการรวมไปถึงข้อเสนอข้อเรียกร้อง ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดกันมาตั้งนานแล้ว มีรายงานออกไปแล้วบางส่วนก็สำเร็จ เช่นการให้สัญชาติ กับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในส่วนของผู้หนีภัยการสู้รบ ยังไม่มีความชัดเจนจากทางรัฐบาล ดังนั้น วันนี้ทุกอย่างพร้อมแล้วอยู่ที่การลงมือ.-319.-สำนักข่าวไทย