รัฐสภา 8ก.ค.-สส.ปชน. จี้ “รมว.คลัง-ต่างประเทศ” ลาออก ไม่ต้องให้ใครไล่ หรือปลดออก รับผิดชอบ เซ่นภาษีทรัมป์ 36% ซัดผิดพลาดรุนแรง ทำประเทศเสียหาย
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา และรองประธานกมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณี สหรัฐฯ เรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯที่จะใช้กับสินค้าส่งออกจากประเทศไทยจะเป็นอัตราร้อยละ 36 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป ว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯใช้ภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 36 กับประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ผิดพลาดและการไร้ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ และการต่างประเทศโดยสิ้นเชิง
“รัฐบาลเพิ่งเปลี่ยน รมว.พาณิชย์ อดีตรมว.พาณิชย์คนเดิม จึงพ้นตัวไป ที่เหลืออยู่ตั้งแต่แรกคือ รมว.การคลัง และรมว.การต่างประเทศ ผมจึงขอเรียกร้องให้ทั้งรมว.คลัง และรมว.ต่างประเทศ แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อนักการเมืองทำนโยบายที่ผิดพลาดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ควรแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก ไม่ต้องให้ใครมาไล่หรือปลดออก” นายจุลพงศ์ กล่าว
นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เรียกร้องให้ รมว.คลัง ลาออก เนื่องจากตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือน ม.ค. ฝ่ายค้านและ กมธ.การพาณิชย์ฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยด่วน ซึ่ง กมธ.การพาณิชย์ฯ ได้มีการประชุมเรื่องดังกล่าวไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง โดยมีภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจา และ กมธ.การพาณิชย์ฯ เคยส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เร่งเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลยังคงปล่อยให้ข้าราชการประจำทำงาน แต่ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้ง รมว.คลังแจ้งว่าจะใช้นโยบายรอไปก่อน โดยอ้างว่าประเทศเวียดนามรีบเจรจาแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ขณะนี้ประเทศเวียดนามโดนภาษีนำเข้าเพียงร้อยละ 20 เพราะฉะนั้นรมว.คลัง ทำงานผิดพลาดอย่างรุนแรง
นายจุลพงศ์ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่เรียกร้องให้รมว.ต่างประเทศ ลาออกเนื่องจากควรจะมีบทบาทในการต่อรองและเจรจาร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ แต่บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศกลับเฉื่อยชา และไม่มีบทบาท มีการเชิญมาชี้แจงกับ กมธ.ฯ ก็ไม่มา อีกทั้ง รมว.ต่างประเทศ ก็ไม่สามารถเดินทางไปสหรัฐฯ ได้ เพราะติดปัญหาการเข้าเมืองสหรัฐฯที่เกิดจากกรณีอุยกูร์ ทำให้การประสานการค้าและการทูตด้อยลงไป ซึ่งจะเห็นว่าการต่างประเทศอ่อนลงมาก.-315.-สำนักข่าวไทย