รัฐสภา 8 เม.ย.- สว.กังวลใจ รัฐบาลจัดการปัญหาสหรัฐโขกภาษี “เทวฤทธิ์” ลั่น รมต.แรงงานของผมจะเข้า คกก.เจรจาด้วยหรือไม่ เหตุภาคแรงงานกระทบโดนตรง ด้าน “ภิญญาพัชญ์” หาตลาดอื่นทดแทน ปั้นแบรนด์ให้ชาวโลกคิดว่ามีแค่ที่ไทยบนโลกที่เดียว
การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระการหารือความเดือดร้อนของประชาชน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลายคนได้แสดงความกังวล ลุกหารือถึงการแก้ไขปัญหากำแพงภาษีของสหรัฐฯที่มีต่อไทย 36% เช่น น.ส.ภิญญาพัชญ์ ศันสนียชีวิน ขอหารือว่า จากมาตรการดังกล่าว ผลต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สินค้าไทยหลายประเภทที่ส่งออกไปยังสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มขึ้น สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในสหรัฐ อีกทั้งผลกระทบยังแผ่ไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ และอื่นๆ อีกมากมายโดยจะส่งผลต่อแรงงานและการส่งออก
“เราควรมีการจัดตั้งมาตรการช่วยเหลือสำหรับการส่งออก 1. จัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านการตลาดและเทคนิคให้กับผู้ส่งออก และการพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมถึงการหาตลาดทดแทนในภูมิภาคอื่น 2. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าไทย ให้ชาวโลกคิดว่าสินค้านี้มีเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น 3. พิจารณาการให้สินเชื่อและการมีส่วนสนับสนุนทางการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนี้ เพื่อให้สามารถปรับตัวและฟื้นฟูการดำเนินการก็อย่างรวดเร็ว” น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าว
น.ส.ภิญญาพัชญ์ ระบุว่า เพื่อให้มาตรการนี้เป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ , กระทรวงการคลัง , หน่วยงานส่งเสริมการส่งออก พร้อมทั้งอยากให้ร่วมมือกับภาคเอกชน เราควรจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ผลกระทบ และกำหนดแนวทางในการรับมือที่เป็นรูปธรรม รวมถึงจัดเวทีหารือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการภาษี
นอกเหนือจากการตอบสนองและระยะสั้นแล้ว จำเป็นต้องมองภาพรวมในระยะยาว โดยมีแนวทางคือลดการพึ่งพาตลาดเดียว สำรวจและขยายออกไปยังภูมิภาคอื่น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในแถบแอฟริกา รวมถึงส่งเสริมพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นเน้นการออกแบบนวัตกรรม และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็จะสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติ เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว
ขณะที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ลุกหารือว่า ประเทศเราพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แปรรูป และสินค้าการเกษตร ผลที่ตามมานอกจากธุรกิจแล้ว คือภาคแรงงานจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งคนที่อยู่ในภาคแรงงานมีประมาณ 6.4 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้มีชีวิตที่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง ความกดดัน และความไม่แน่นอน มีโอกาสจะต้องตกงานและรายได้ลดลง จึงขอนำเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่จะต้องเจรจา
“ผมไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของผม จะเข้าไปอยู่ในคณะเจรจาด้วยหรือไม่ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ขอให้คณะเจรจา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับประเด็นด้านแรงงาน และที่สำคัญ ควรนำประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาบนโต๊ะให้เท่าเทียมกับประเด็นด้านอื่นๆในทางเศรษฐกิจ รวมถึงพิจารณามาตรการเยียวยาแรงงานควบคู่กันไปด้วย” นายเทวฤทธิ์ กล่าว.-312 -สำนักข่าวไทย