รัฐสภา 18 ก.พ.- “นันทนา” ข้องใจ “อังคณา” ถูกล็อบบี้หรือไม่ หลังถอนญัตติสิทธิผู้ต้องขัง ชี้หากไม่พร้อมต้องไม่เสนอ เสนอแล้วต้องพร้อม ด้าน “อังคณา” บอกข้อมูลไม่พร้อม หวั่นไม่รอบด้าน วิญญูชนพิจารณาได้
ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาวาระการเสนอญัตติ เรื่องขอให้วุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเสนอโดยนางอังคณา นีละไพจิตร สว. และคณะ
ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่วาระ นางอังคณา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมและไม่รอบคอบของข้อมูลที่มี ทำให้ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายโต้แย้ง และไม่เห็นด้วยกับการถอนญัตติดังกล่าว เนื่องจากได้เตรียมการอภิปรายไว้แล้ว พร้อมเรียกร้องให้ผู้เสนอญัตติอธิบายเหตุและผล เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าถูกล็อบบี้ให้ถอนญัตติ
“ขอให้ผู้เสนอญัตติอภิปรายให้เห็นถึงเหตุผลมากกว่าความไม่พร้อม หากไม่พร้อมต้องไม่ยื่น หากยื่นแล้วต้องพร้อม เมื่อเปิดอภิปรายเพื่อให้ สว.แสดงความเห็นและข้อมูล ท่านไม่พร้อมไม่เป็นไร แต่ สว.พร้อม การถอนญัตติดังกล่าว สังคมสงสัยว่า ญัตตินี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สร้างความยุติธรรมในสังคมให้กับผู้ต้องขังอย่างยิ่ง ดังนั้นขอเหตุผลที่มากกว่าไม่พร้อม” น.ส.นันทนา กล่าว
ทำให้นางอังคณา ชี้แจงว่า เหตุผลที่ถอน โดยยกตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมอยากมีข้อมูลมากกว่านี้ เช่น กรณีของผู้ต้องขังที่อดอาหารปะท้วงและเสียชีวิต ยังขาดข้อมูลการชันสูตรศพ และข้อมูลของครอบครัว หากมีข้อมูลไม่ครบถ้วนอาจทำให้ได้ข้อมูลไม่รอบด้าน และขณะนี้เรื่องการตรวจสอบนักโทษที่ได้สิทธิรักษาตัวนอกเรือนจำ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอยู่ ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง หากมีข้อมูลไม่เพียงพอ จะทำให้ข้อมูลที่เสนอต่อสาธารณะไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มีระเบียบของฑัณฑสถาน ที่ให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องขัง เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต้องใส่เครื่องหายใจ และตอบสนองไม่ได้ต้องอยู่ในเรือนจำ ระเบียบดีแต่ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้จะเสนอญัตติดังกล่าวกลับอีกครั้ง
ทำให้น.ส.นันทนา กล่าวว่า จากคำชี้แจงวิญญูชนพึงพิจารณาได้ว่าสมเหตุสมผลกับการถอนญัตติหรือไม่ ฟังแล้วไม่เห็นด้วยกับการถอนญัตติดังกล่าว
ทั้งนี้นายธนกร ถาวรชินโชติ สว. ชี้แจงด้วยว่า ตนในฐานะผู้ร่วมเสนอญัตติ และสว.อีก 2 คน ได้ขอถอนการสนับสนุนญัตติดังกล่าว ทำให้เป็นเหตุต้องถอดถอนญัตติดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งเข้าใจว่า นางอังคณาจะเสนอญัตติดังกล่าวอีกรอบ
นางอังคณา จึงชี้แจงว่า ตนรับฟังผู้ร่วมเสนอญัตติ ว่าเป็นการเขียนญัตติที่ไม่รอบคอบ ดังนั้นจึงต้องแก้ไข ส่วนที่อธิบายไปแล้ว วิญญูชนพิจารณาได้หรือไม่ ขอให้สาธารณะพิจารณา ทั้งนี้สว.สามารถเสนอได้ แต่การทำงานของตน หากทำไม่รอบคอบ กังวลจะกระทบสิทธิของบุคคลอื่น
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ 138 เสียง เห็นชอบให้ถอนญัตติดังกล่าว และ 7 เสียง ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 7 คน.-315 -สำนักข่าวไทย