สงขลา 29 พ.ย. – “อนุทิน” นำคณะบินต่อสงขลาเกาะติดการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เผยล่าสุดกรมบัญชีกลางขยายวงเงินทดรองราชการ 6 จังหวัดประกาศภัยพิบัติอีก 50 ล้านบาท ให้ผู้ว่าฯ ใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชนทันต่อสถานการณ์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยเดินทาง จากจังหวัดนราธิวาสต่อไปยัง อ.นาทวี จ.สงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชน และมอบเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยได้เดินทางไปยังตลาดสดเทศบาลตำบลนาทวี และติดตามสถานการณ์น้ำในคลองนาทวี และมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบภัยในบริเวณดังกล่าวด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ จ.นราธิวาส แต่ด้วยสภาพอากาศที่ฝนตกตลอดทาง ทำให้ถึง อ.นาทวี ล่าช้ากว่ากำหนดการ แต่ก็มาด้วยความตั้งใจมาเยี่ยมพี่น้องประชาชน ในการนี้ได้เน้นย้ำกับผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ให้ดูแลประชาชนในศูนย์พักพิง ต้องมีอาหารครบทุกมื้อ ถูกสุขลักษณะ มีโรงครัวพระราชทาน โรงครัวของจังหวัด โรงครัวของกาชาด และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลเรื่องอาหารการกิน รถผลิตน้ำดื่มของ ปภ. รวมถึงมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขดูแลด้านสุขภาพกายและใจ
นายอนุทินกล่าวว่า ได้รับรายงานมาในระหว่างเดินทางมาที่ จ.สงขลา ว่าขณะนี้กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการแก่ จ.สงขลา และจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กรณีอุทกภัยและวาตภัย ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สุราษฎรธานีและนครศรีธรรมราช รวม 6 จังหวัด อีกจังหวัดละ 50 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อกับสถานการณ์ต่อไป
นายอนุทิน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของน้ำทะเลหนุนซ้ำเติมสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาจะคลี่คลายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้มีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากเป็นเรื่องของปริมาณน้ำฝน แต่ไม่มีปัญหาของการไหลหลากน้ำจากภูเขาเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ เมื่อฝนหยุดตกทุกอย่างจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำ ณ ขณะนี้คือการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนและเร่งเยียวยาให้ได้เร็วที่สุดตามเกณฑ์ปัจจุบันคือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน ต้องไปดูว่าครัวเรือนไหนเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการจ่ายชดเชยเยียวยาบ้าง จะปล่อยให้ประชาชนรอนานไม่ได้ เชื่อว่าเรื่องนี้จะได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เขามีประสบการณ์มาแล้วจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานก่อนหน้านี้
นอกจากนั้น ยังได้ย้ำไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยให้ดูแลศูนย์พักพิงให้ได้มาตรฐาน ต้องมีสิ่งของจำเป็นครบ หากพบชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้าไปดูแลรักษา ไปจนถึงการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอย่างทันท่วงที อาหารการกินด้านในต้องถูกสุขอนามัย ท่านผู้ว่ารับทราบนโยบายแล้ว ทุกท่านกมุ่งมั่นในการเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชน .319.-สำนักข่าวไทย