รัฐสภา 26 ก.ย.- “พิพัฒน์” ตอบกระทู้ ยันตั้งใจเดินหน้าปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องเริ่มที่ธุรกิจไซซ์ L พร้อมกันก่อน แล้วค่อยทยอยไป SME หวั่นเจ๊งทั้งระบบ ปัดเล่นละครวันประชุมล่ม 20 ก.ย. ย้อนถามถ้าโหวตได้ จะเกิดอะไรขึ้น พร้อมวอนทุกฝ่ายคุย ธปท. ลดดอกเบี้ยช่วยลดต้นทุน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนายวันมูหะมันนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามที่นายเซียร์ จำปาทอง สส. พรรคประชาชน เป็นผู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายเซียร์ กล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570 ซึ่งถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล และรู้สึกยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับค่าแรงให้สูงขึ้น แต่ 11 ปีผ่านมา มีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
เฉลี่ย 2 ถึง 2.26 บาท และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงานประกาศจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม และนายกรัฐมนตรีก็เคย ประกาศว่าจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำภายในวันที่ 1 ตุลาคม เช่นกัน ถือเป็นการให้ความหวังกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ แล้วก็เทความหวังนี้ จนกระทั่งเมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา การประชุมปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ องค์ประชุมไม่ครบ และเมื่อวันที่ 20 กันยายนมีการประชุมอีกครั้ง แต่การประชุมก็ล่มอีกเพราะผู้แทนฝ่ายรัฐบาลหายไป โดยเฉพาะอธิบดีกรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน ติดภารกิจอะไรเหตุใดจึงไม่มาร่วมประชุมหรือเป็นการเล่นละครตบตา รวมถึงตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทางพี่น้องรายงานจึงฝากถามว่าเป็นการเล่นละครตบตาหรือไม่ และขอถามว่ามีความมุ่งมั่นที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทหรือไม่และถ้าปรับจะปรับเมื่อไหร่
นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงโดยยืนยัน ณ สถานที่แห่งนี้ ว่า มีความตั้งใจที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และคิดว่าผู้ใช้แรงงานคงทราบดีถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล แม้นายกรัฐมนตรี จะไม่ได้ประกาศ แต่ตนขอยืนยันและตั้งใจพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป
ส่วนที่ถามว่ามีการเล่นละครกันหรือไม่ในวันที่ 16 กันยายน ฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมนั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า นายเซียร์คงทราบดีว่า การเข้าร่วมประชุมไตรภาคีมีฝ่ายละ 5 คนโดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานการประชุม หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 ก็ไม่สามารถที่จะเปิดประชุมและลงมติได้ ดังนั้นในวันที่ 16 กันยายน เท่าที่ทราบ ฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุม และในวันที่ 20 กันยายน ได้มีการเชิญประชุมอีกครั้ง แต่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่นอกเหนือจากการที่ตนจะกำกับหรือบังคับ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงและนั่งในห้องประชุมได้ ตนจึงไม่สามารถเข้าไปแม้แต่กระทำการเจรจา เพราะรัฐมนตรี ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ โดยในวันดังกล่าว ฝ่ายนายจ้างมาครบ 5 คน ลูกจ้าง ขาด 2 คนตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย ขาด 1 คน และอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานขอลา ซึ่งจะถามว่าเป็นเทคนิคก็ได้ หากมีการประชุมในวันนั้น ตนก็เชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะโหวตได้ แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้นถามว่าฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน ของเราถ้ามีครบ นอกเหนือตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้า 1 คน ก็จะขอถามว่า ผู้ที่จะเสียหาย คือกลุ่มใด ซึ่งตนไม่อยากที่จะพูดในที่นี้ เพราะแน่นอนว่าฝ่ายนายจ้าง ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อยากขึ้นค่าแรง เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พวกเราก็คงทราบ
นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างก็คือดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริงนอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตนคิดว่าในรัฐบาลก็มีหลายฝ่ายที่พยายาม จะเจรจากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือฝ่ายนายจ้าง ซึ่งตลอดเวลาธนาคารแห่งประเทศไทย อ้างถึงว่าหนี้สินครัวเรือนสูงมาก ซึ่งตนก็ไม่ได้เถียง แต่ถามว่าวันนี้ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารที่เป็นของภาครัฐ มีปล่อยกู้ให้ใครได้บ้าง และเราก็เห็นอยู่แล้วว่าเต็นท์รถมือสองปิดตัวเองตลอดเวลา มีการยึดรถมาลานจอดรถสำหรับการประมูลดังนั้น ตนไม่ขอที่จะถกเถียง
ส่วนที่นาย เซียร์ ถามถึงว่ากรณีที่ระบุว่าไม่สามารถแทรกแซง คณะกรรมการไตรภาคีในเรื่องของการปรับอัตราขั้นต่ำได้แต่ที่ผ่านมารัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ภายใน 400 บาท ถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่ และที่ล่าสุดบอกว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับกิจการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไปนั้น
นายพิพัฒน์ ยืนยันไม่ได้เป็นการแทรกแซงการที่ให้สัมภาษณ์เป็นการให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงานในการที่จะเข้าไปเจรจาถ้าตนแทรกแซงนั่นหมายความว่าตนต้องเข้าไปแทรกแซงหรือขอเวลาที่จะไปพูดก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ส่วนเรื่องที่กำหนดหลักเกณฑ์ปรับขึ้นเท่ากัน 400 บาท สำหรับธุรกิจที่มีลูกจ้างมากกว่า 200 คนนั้น เพราะคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังไม่อยากให้กระทบกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพราะ ถือครอง แรงงานกว่าร้อยละ 90 ของประเทศไทยและวันนี้ SME อยู่แทบไม่ได้เพราะการต่อสู้ทางการค้าค่อนข้างรุนแรงมาก ดังนั้นทางกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานกำลังหาแนวทางว่าจะไม่กระทบไปที่ SME แล้วจะหาวิธีอย่างไรในการที่จะไปช่วย กู้สถานะทางการเงินให้กับ SME เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและเดินหน้าไปได้ สำหรับรองรับการปรับค่าแรงในครั้งต่อๆ ไป เพราะอาจทำและประกาศในเวลานี้ ก็แน่นอนว่าคงจะมีเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานอีกเป็นแสนหรือหลายแสนที่จะไม่มีงานทำ ตนก็คงจะไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบมากมายขนาดนั้น จึงขอความกรุณา สส. ที่ทำงานอยู่กับภาคแรงงาน คงทราบดีว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดคือจุดไหน
นายพิพัฒน์ กล่าว ว่า การที่เราปรับในภาคธุรกิจที่มีแรงงานมากกว่า 200 คนมีผู้ที่ได้ประโยชน์ประมาณ 2,290,000 คนเศษโดยมีแรงงานไทยได้รับประโยชน์ 1,700,000 กว่าคนที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว แต่ต้นทุนทางนี้ฝ่ายนายจ้างก็จะได้รับผลกระทบ ต่อคนประมาณ 72 บาท 78 สตางค์ หากถามว่าเราผลักภาระตรงนี้ไปให้กับ SME แล้วถ้า SME ล้ม ความรับผิดชอบก็ต้องอยู่ที่กระทรวงแรงงาน เพราะคุณเล่นประกาศแบบปูพรม แต่ถ้าเราประกาศไซซ์ L ไปก่อนแล้วหลังจากนั้นเรามากู้สถานะให้กับ SME เมื่อสถานะของ SME เดินหน้าต่อไปได้แล้วเรามาว่าของ SME ต่อไปแต่ไม่ได้หมายความว่า SME ปีนี้จะไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เราก็มีนโยบายต่อไปว่า ในช่วงของสิ้นปีต่อเนื่องปี 2568 เราก็จะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะ SME อีกครั้งหนึ่งตามที่อนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้กับทางกระทรวง
ทั้งนี้นายซียร์ได้ถามคำถามที่ 3 ถึงการที่่รัฐมนตรีให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคีให้ถึง 600 บาทในปี 2570 แน่นอนจึงอยากให้รัฐมนตรีช่วยบอกไทม์ไลน์ในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2570 ให้ทราบได้หรือไม่ว่าแต่ละช่วงจะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรบ้าง ถึงจะขึ้นถึง 600 บาท พี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการจะได้เตรียมตัวเตรียมใจเตรียมความพร้อมในการที่จะได้รับผลด้านบวกและ ด้านลบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า การจะพูดถึงไทม์ไลน์จะต้องดูถึงสถานะของผู้ประกอบการ และสภาวะของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะไม่ถึง 600 บาท แต่จะมีความก้าวหน้า ของการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยที่ทุกฝ่ายอยู่ได้ และขอให้พวกเราช่วยกัน ในการไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องของการลดต้นทุนของค่าดอกเบี้ยของสถานประกอบการเพราะหากมีต้นทุนดอกเบี้ยที่เหมาะสมส่วนเชื่อว่าเมื่อลดต้นทุนได้การที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะเป็นสมการที่เราสามารถเดินไปได้ เมื่อนายทุนหรือผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าก็สามารถขยับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานได้ ดังนั้นโอกาสหน้าอยากให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติหลังจากที่เราประกาศค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วที่ 400 บาท ขอให้ เชิญตนมาตอบอีกครั้งหนึ่งตนพร้อมที่จะตอบ ในเวทีแห่งนี้.-312 -สำนักข่าวไทย