รัฐสภา 9 ก.ค.-“ปกรณ์วุฒิ” ถามความพร้อมรัฐบาล ให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติมากแค่ไหน หลังจะรับร่างกฎหมายของ สส.ไปพิจารณาก่อน 60 วันทุกร่าง จี้ “เศรษฐา” ตอบกระทู้สัปดาห์นี้ ต้องถือเป็นโอกาสดี อย่าคิดว่าฝ่ายค้านหลอกด่า
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสัปดาห์นี้ ว่า ในการพิจารณาวันที่ 10 กรกฎาคมนี้จะมีการพิจารณากฎหมายยกเลิกคำสั่งคสช. เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วและคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คงจะมีการรับ หลักการเห็นชอบตามที่กรรมาธิการพิจารณามา นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายของ ครม.อีก 1 ร่าง เกี่ยวกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ สส.เป็นผู้ยื่นเอง ตนได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทุกร่าง ครม.น่าจะรับกลับไปพิจารณาก่อน 60 วัน แม้กระทั่งร่างของ สส.พรรคเพื่อไทย ดังนั้นขอตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมามีการปิดสมัยประชุมหลายเดือน และทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าร่างกฎหมายที่จะเข้าสภาหลังเปิดสมัยประชุมมีอะไรบ้าง และเชื่อว่าไม่เกินความสามารถรัฐบาลที่จะรับทราบว่า ร่างกฎหมายฉบับไหนที่จะเข้าสภาเป็นอันดับต้นๆ แต่ก็ยังคงไม่มีความพร้อมในการเตรียมการใดๆ แต่ก็ไม่ได้ผิดข้อบังคับอะไรที่ครมจะรับร่างไปพิจารณาก่อน 60 วัน จึงขอทวงถาม ต่อการเตรียมความพร้อมกับการยึดโยงระหว่างฝ่ายบริหาร กับ ฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้ง ว่าให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติมากแค่ไหน
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงการตั้งกระทู้ถามในวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคมนี้ ว่า ตนได้แจ้งไปยังวิปรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่เย็นวันจันทร์ ที่ 8 กรกฎาคม ว่า จะให้นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถามตรงไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยเป็นการถามเกี่ยวกับมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้นายกฯ อาจจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาตอบแทนได้ เพราะเข้าใจว่า จะถามเรื่อง ดิจิทัลวอลเล็ต แต่จริงๆ แล้ว มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่นั้น และเรายืนยันว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่มาตอบ เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่จะพูดเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชน เช่น ค่าไฟก็จะต้องเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงพลังงาน และมาตรการอีกหลายๆ ด้าน ที่จะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ซึ่งจำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายกฯ เป็นหัวโต๊ะในการประชุม ครม.ชุดเล็ก ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และนายกรัฐมนตรีเองก็เพิ่งพูดไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่ได้ตั้งใจจะหนี ถ้าว่างก็จะมา และครั้งนี้ท่านรู้อยู่แล้ว ว่าทุกวันพฤหัสบดีช่วงเช้า จะเป็นกระทู้สด ที่ ครม. จะต้องมาสแตนบาย แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องสแตนบายด้วยซ้ำเพราะฝ่ายค้านแจ้งไปอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันจันทร์แล้ว
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็น่าจะสามารถเคลียร์ภารกิจ มาตอบกระทู้ได้และต้องดูว่านายกรัฐมนตรีจะทำอย่างที่สัญญาไว้หรือไม่ และหากสัปดาห์นี้ในนายกรัฐมนตรี ยังไม่มาตอบกระทู้ของฝ่ายค้านอีก ก็ต้องตั้งคำถามว่า นายกฯ จะหลีกเลี่ยงและยื้อการตรวจสอบไปเรื่อยๆ หรือไม่ และตนไม่แน่ใจว่าการพิจารณา พ.ร.บ.งบกลางปี นายกรัฐมนตรีจะส่งใครมาเป็นผู้ชี้แจงในสภา ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่นเดิม ดังนั้นอยากให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงแถลงไขให้ประชาชนรับทราบ เพราะคิดว่าเป็นเวทีที่สำคัญและเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะสามารถสื่อสารกับประชาชนได้ ผ่านการถามคำถามจากสส. ซึ่งนายก รัฐมนตรีสามารถสะท้อนกลับมาได้ว่า ครม.กำลังทำอะไรอยู่
“นี่เป็นโอกาสที่ดีอย่าคิดว่าเป็นเวทีที่ฝ่ายค้านจะมาฉวยโอกาสหลอกด่า ผมคิดว่าถ้านายกรัฐมนตรีทำงานอยู่ตลอดเวลา ก็มาชี้แจงได้อยู่แล้วว่าท่านทำอะไรไว้บ้าง เพราะมีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่จะหลอกด่า เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าใน ครม. มีการทำอะไรกันบ้าง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึง การเพิ่มวันประชุม ว่า ไม่เข้าใจว่าประธานวิปรัฐบาลไปฟังอันไหนมา ถึงบอกว่าฝ่ายค้านจะเพิ่มวันประชุม เป็น วันพุธ พฤหัสบดี ศุกร์ ทั้งที่การเพิ่มวันศุกร์ เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ซึ่งการประชุมในสมัยนี้ตนก็เสนอแล้ว โดยเป็นการพูดคุยกับวิปรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่8 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้มีญัตติ รวมถึงรายงานของคณะกรรมการ ค้างอยู่จำนวนมาก จึงคิดว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการประชุมเพิ่มสัก 1 ครั้งภายในเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าก็ได้ เพื่อที่จะให้สะสางวาระ ที่ค้างอยู่ให้สามารถเดินต่อไปได้
“ผมเสนออย่างนี้ แต่อาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่ต้องทำทันที เพราะเห็นว่ามีหลายประเทศเขามีการจัดการของเขา ที่ใช้วิธีประชุม 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ประชุมแค่ 3 สัปดาห์ต่อ 1 เดือน สัปดาห์สุดท้ายให้สส.กลับพื้นที่ ซึ่งตนคิดว่าอาจจะเป็นทางออกก็ได้ ถ้าเราประชุมสัปดาห์ละ 3-4 วัน แต่ประชุมแค่ 3 สัปดาห์ ต่อ 1 เดือน ซึ่งกลายเป็นเดือนละ 12 วันจากเดิมมีเพียงแค่ 8 วัน ซึ่งจะทำให้สภาได้ประชุมเยอะกว่าเดิมและสส.มีเวลาลงพื้นที่ ยาวนานกว่าเดิม ตนเห็นว่าวิธีการมีหลายวิธีแต่เราต้องยอมรับว่าหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ควรต้องมาประชุมสภาเพราะญัตติต่างๆ ก็เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน โดยตรงเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ การลงพื้นที่ก็มีความสำคัญ แต่ลงพื้นที่อย่างเดียว แล้วไม่ได้นำมาพูดคุยหรือใช้กลไกต่างๆ ในสภา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชนปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ถูกแก้ไข ดังนั้นต้องจัดสรร ให้ดี ไม่ใช่ว่าเพิ่มเวลาประชุมไม่ได้เลยหรือเพิ่มมากจนเกินไป” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว.-315.-สำนักข่าวไทย