กรุงเทพ 29 มิ.ย.- ทูตสหรัฐส่งหนังสือถึงนายกฯ เร่งเครื่องโค้งสุดท้ายดันเอฟ-16 เสนอเงินกู้ยืม 9 ปี แต่เสียดอกเบี้ย-การค้าต่างตอบแทนกับไทย ก่อน ทอ. ฟันธงเลือกแบบในเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เข้าพบนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือทางทหารในการเสนอขายเครื่องบิน F-16 block70 ของบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน หลังจากได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังไม่มีรายงานว่าเนื้อหาในหนังสือที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีมีรายละเอียดอย่างไร คาดว่าเป็นการแจ้งข้อเสนอในเรื่องของความช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากโปรแกรมการซื้ออาวุธ ในโครงความช่วยเหลือกับมิตรประเทศ และข้อมูลการค้าต่างตอบแทนที่มีกับไทย พร้อมกันนั้นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ยังได้เชิญ รมว.กลาโหมของไทย ไปเยือนสหรัฐด้วย
ด้าน พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกองทัพอากาศจีนอย่างเป็นทางการ ปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องที่ทูตสหรัฐส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของกองทัพอากาศกำลังดำเนินการตามขั้นตอนในการคัดเลือกแบบให้มีความคุ้มค่าในทุกด้าน และเป็นไปตามนโยบายการตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยยังรับฟังข้อเสนอที่เพิ่มเติมจากทั้ง 2 ชาติ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการประชุมเชียงการีน่าไดอาล็อค ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รมว.สหรัฐ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับนายสุทิน พร้อมหยิบยกข้อเสนอในโปรแกรม Foreign Military Financing (FMF) ซึ่งเป็นการมอบเงินช่วยเหลือและเงินกู้แก่รัฐบาลประเทศพันธมิตร เพื่อใช้ในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการฝึกอบรมของสหรัฐ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณแต่มีความจำเป็นในการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร จากเดิมมีการลดราคา F-16 block แล้ว จะให้ผ่อนชำระในระยะยาว 9 ปี มีดอกเบี้ยต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ และเป็นระยะเวลาที่ผ่อนยาวกว่าการจัดซื้อปกติ ซึ่งสหรัฐจะอนุมัติให้กับมิตรประเทศที่ใกล้ชิด
มีรายงานว่าในร่างพระราชบัญญติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้บรรจุรายละเอียดโครงการผูกพันงบประมาณในปีแรก วงเงินประมาณ 3,500 ล้านบาท จำนวน 4 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นงบฯ ซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน 4 เครื่อง (ระยะที่ 1) แต่ในเอกสารงบประมาณไม่ได้แบ่งเป็นรายการให้เห็นว่าเป็นโครงการใดบ้าง ทั้งนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ก่อนลงมติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
ทำให้ระหว่างนี้บริษัทและประเทศผู้ผลิตเครื่องบินรบ 2 ชาติ คือ SABB จากสวีเดน ผู้ผลิตเครื่องบิน Gripen/E และ Lockheed Martin สหรัฐ ผู้ผลิตเครื่องบิน F-16 block70 ซึ่งกองทัพอากาศให้ความสนใจ ต่างเร่งยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้ชนะการคัดเลือกในโค้งสุดท้าย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณารวบรวมข้อมูลฯ ที่มี พล.อ.อ.เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศ เป็นประธาน เดิมจะแถลงข่าวผลการสรุปว่าเครื่องบินแบบใดได้รับคะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แต่ได้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอเอกสารจากบริษัท กองทัพอากาศก็จะให้คณะกรรมการคัดเลือกแบบฯ เป็นผู้เลือกแบบในขั้นตอนสุดท้าย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 Mr.Marcus Wallenberg ประธานกลุ่มบริษัท SAAB SEB ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่าได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องเครื่องบินกริพเพน โดยปีหน้านายกฯ จะเดินทางไปดาวอสอีกครั้ง และอาจจะจัดเป็นฟอรั่มเล็กๆ ระหว่างไทยกับสวีเดน ในการนำบริษัทที่เกี่ยวข้อง 2 ประเทศ มาพูดคุยจะพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีร่วมกันได้หรือไม่ พร้อมยังระบุว่าในกรณีของเครื่องบิน F-16 ของสหรัฐ ถ้าซื้อก็ต้องมาพัฒนาที่เมืองไทยเหมือนกัน เป็นการต่างตอบแทน.-313-สำนักข่าวไทย