โกตาบารู ประเทศมาเลเซีย 29 พ.ค.- คนไทยในมาเลย์ที่มีสถานะตกหล่นแห่เข้าตรวจ DNA ขอสัญชาติไทย ด้านรอง ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ ชี้ เป็นปัญหาสะสม เผยตื่นตัวเยอะ เพื่อรับสิทธิพื้นฐานคนไทยพ่วงดิจิทัลวอลเล็ต
นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผศ.นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และนายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมดำเนินการโครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู สหพันธรัฐมาเลเซีย
นายภาษิต กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการมาแล้ว 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนในมาเลเซีย ซึ่งเกิดจากการที่มีคนไทย เดินทางมาทำงานด้านการเกษตร เช่น รับจ้างตัดยาง เมื่อมีบุตร ไม่ได้แจ้งเกิด จึงไม่มีทะเบียนราษฎร และไม่มีเอกสารต่าง ๆ ยืนยันตัวตน เกิดเป็นปัญหาคนไทยไม่มีทะเบียนราษฎรสะสมมาหลายรุ่น จึงต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการตรวจDNA โดยปี 2566 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 97 คน ยืนยัน สัญชาติ และ ทำบัตรประชาชน ได้ 89 คน และปีนี้ผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกิน 235 คน
นายภาษิต กล่าวว่าโครงการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการทูตเพื่อประชาชน ในการดูแลคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ ให้บริการคนไทยทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยก การที่คนไทยกลุ่มนี้ได้รับเอกสารยืนยันตัวตน จะนำไปสู่การได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ เช่น สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลการ การศึกษา รวมถึงการทำหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้สามารถพำนักอยู่ในมาเลเซียได้อย่างถูกกฎหมาย
ผศ.นพ.วรวีร์ กล่าวว่า ปัญหาของราษฎรและสถานะมีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ใช่ชายขอบ แม้กระทั่งเขตหลักสี่ก็ยังมีคนที่ไม่มีบัตรประชาชนและไม่มีสถานะทะเบียนราษฎร์ซึ่งปีที่ผ่านมามีความตื่นตัวมากพอสมควรร วมถึงเงินดิจิตอลที่จะได้ ซึ่งการตรวจ DNA จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ขึ้นอยู่กับความยากของปัญหาด้วย หากเป็นพ่อแม่ลูกสามารถตรวจได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นยายหลานอาจจะมีความซับซ้อนขึ้น
ทั้งนี้ หากมีความเชื่อมโยงทางสายโลหิตก็สามารถตรวจสอบได้หมด สำหรับความยากในการหา คือ ลำดับชั้นที่ ระดับ คุณทวด และ เพศต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้ารับการตรวจมีเพียง 1% ที่ตรวจแล้ว พบว่าไม่ใช่สายเลือด
สำหรับค่าใช้จ่ายต่อเคสนั้น นายวรวีร์ ตามโครงการนี้ประชาชนจะไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลดูแล แต่ถ้าเป็นการตรวจปกติต้นทุนในเคสพ่อ-แม่-ลูก จะมีค่าใช้จ่ายต่อ 1 คน 2,500บาท ซึ่งหากมีคู่เทียบ 1 คน จะเท่ากับ 5,000 บาท แต่ถ้ายากไปกว่านั้น ระดับคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย จะต้องใช้ชุดตรวจ 2 ชุดค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ไม่แพงถ้าเทียบกับสถานะที่จะได้ ซึ่งจากการทำโครงการที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจออกบัตรประชาชนได้ 70 – 80% เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน
นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า โครงการนี้ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น นำเรื่องวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยคนไทยที่มีสถานะความเป็นคนไทยได้ ซึ่งปีนี้จำนวนคนไทยที่มีสถานะตกหล่นเข้ามาก็ใช้บริการมากขึ้นและคิดว่าหากประสบความสำเร็จ น่าจะมีคนไทยมาขอใช้บริการเพิ่มมากขึ้น แต่ที่ไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ทันทีจะต้องนำใบเกิด ไปเข้าชื่อทางทะเบียนบ้านก่อน จึงมีความจำเป็นต้องกลับเมืองไทย เพื่อเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้าน เพื่อได้เลข 13 หลัก จึงจะขอบัตรประชาชนได้ จึงไม่สามารถให้บริการ ทำบัตรประชาชนที่สถานกงสุลได้เลย ซึ่งระเบียบนี้ออกมาตั้งแต่ยังไม่มีเทคโนโลยี DNA และออกมาในช่วงที่มีการซื้อขายสัญชาติกัน แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับแก้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในต่างประเทศมากขึ้น.-312.-สำนักข่าวไทย