ทำเนียบรัฐบาล 18 เม.ย.-“เลขาฯ กฤษฎีกา” งง กระแสกู้เงิน ธ.ก.ส. แจกเงินดิจิทัล ยืนยัน ไม่มีหารือในบอร์ด ชี้ ใช้ ม.28 ได้ แต่ต้องกำหนดเป็นการเสนอ ครม. แต่หากเสนอขอความเห็นชอบกฤษฎี ต้องเป็นไปตามขั้นตอน
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เห็นชอบ ให้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาดำเนินการในโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ว่า ในวันประชุม คณะกรรมการนโยบาย มีการพูดถึง แหล่งเงิน ว่ามาจาก 3 แหล่งคืองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ปี 2568 และส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการตามม.28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับงบประมาณ ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการกู้เงินจากธ.ก.ส.ในที่ประชุม จึงไม่ทราบว่ามีการนำเรื่องกู้เงินมาจากไหน
นายปกรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการตามม.28 สามารถทำได้ แต่จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดเป็นโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่ตนยืนยันได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการพูดเรื่องการใช้เงินจากธ.ก.ส สำรองจ่ายไปก่อนในฐานะโครงการหรือกิจกรรมของรัฐ
ทั้งนี้การดำเนินการตาม ม. 28 เงินดังกล่าวจะต้องให้กับเกษตรกรเท่านั้นใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ใช่ ส่วนรายละเอียดเรื่องการดำเนินโครงการการตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องไปดูแลเหมือนกับทุกโครงการที่ผ่านมา
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีและ สหภาพ ธ.ก.ส.อยากให้กฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายก่อน อาจจะส่งผลให้การดำเนินโครงการล่าช้าไปอีก นายปกรณ์ กล่าวว่า หากมีการนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี สำนักงานกฤษฎีกาจะสามารถเสนอความเห็นได้เอง แต่ถ้าเป็นการส่งเรื่อง เพื่อขอหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา จะต้องเป็นไปตามกระบวนการในการขอความเห็น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนตามขั้นตอนของการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น กระทรวงการคลัง ถ้าหาข้อยุติไม่ได้จึงจะไปสู่กฤษฎีกา ซึ่งก็จะต้องมีการนัดประชุมอย่างน้อย 2-3 ครั้ง จึงไม่ทราบว่าจะส่งผลให้มีความล่าช้าหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. เมื่อไหร่
เมื่อถามว่าการใช้เงินตาม ม.28 กับการใช้เงินของธ.ก.ส.เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน การใช้เงินตาม ม. 28 จะมีการกำหนดโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณ และประเมินข้อดีข้อเสียข้อเสีย ประเมินทางเลือกอื่น ตาม ม.27 ด้วย ซึ่งการดำเนินการตามม.28 หากไม่ผ่านธ.ก.ส. จะเป็นหน่วยงานอื่น ได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะมองอย่างไร เพราะเป็นผู้ริเริ่มโครงการ
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าหากใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติโครงการ ของธ.ก.ส.ในการดำเนินการ จัดเงินดิจิทัลวออลเล็ต 10,000 บาทอาจจะเข้าหลักขัดกันของผลประโยชน์ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ท่านสวมหมวกในฐานะประธานธ.ก.ส. ซึ่งทุกเรื่องก็เป็นอย่างนี้
อย่างไรก็ตามนายปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจที่ต้องเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ เพราะถือเป็นหน้าที่ของกฤษฎีกาอยู่แล้ว ในการดูแลให้รัฐบาลดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย อย่าไปคิดมาก.-317.-สำนักข่าวไทย