20 มี.ค.- “มหาดไทย” เผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว 35,113 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 22,832 ราย มูลหนี้ลดลง 928 ล้านบาท เน้นย้ำ ทุกจังหวัดเร่งรัดดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ครบทุกกรณีอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้เปิดรับลงทะเบียนให้ประชาชนที่มีความประสงค์ให้ทางราชการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล โดยมีประชาชนมาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 153,400 ราย กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัด อำเภอ เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ มีจำนวนลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 35,113 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 22,832 ราย มูลหนี้ลดลงรวม 928.265 ล้านบาท และมีกรณีที่เจ้าหนี้-ลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดี 365 คดี โดยมีจังหวัดที่สามารถเชิญเจ้าหนี้-ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากที่สุด 5 ลำดับ คือ 1. จังหวัดสงขลา 4,208 ราย 2. จังหวัดนครสวรรค์ 2,669 ราย 3. จังหวัดนครราชสีมา 2,182 ราย 4. จังหวัดนครศรีธรรมราช 1,582 ราย และ 5. จังหวัดนราธิวาส 1,325 ราย ซึ่งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพบปะพูดคุยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นคนกลาง และหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตามผลภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประสบความสำเร็จครบทั้งกระบวนการต่อไป
“เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ วันนี้จังหวัดสงขลายังคงเป็นจังหวัดที่มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยมากที่สุด 4,208 ราย และมี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ นราธิวาส และระนอง ดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยกับผู้ที่มาลงทะเบียนครบ 100% แล้ว จึงขอให้ทุกจังหวัดที่เหลือบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เร่งรัดให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ครบทุกกรณี เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วและเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยของทุกกรณี หากไม่สามารถใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทันที เพราะหนี้นอกระบบถือว่าผิดกฎหมาย คือ มีการปล่อยกู้โดยไม่มีใบอนุญาต อีกทั้งยังเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคลินิกแก้ไขหนี้ พร้อมเน้นย้ำ ให้กำชับนายอำเภอ มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ในฐานะเลขานุการกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) ดำเนินการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน (เมนูแก้จน) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ลูกหนี้ซึ่งประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มต่อยอดในการสร้างอาชีพ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“แม้ว่าการรับลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะปิดรับไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระบวนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนยังไม่สิ้นสุด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ดำเนินการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ สามารถติดต่อผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้ ทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือโทรสายด่วน 1567 โดยจะมีเจ้าหน้าที่บริการตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย .317 .-สำนักข่าวไทย