ก.มหาดไทย 26 ม.ค.-“อนุทิน” ลงนาม MOU 5 หน่วยงาน ต้านทุจริตสอบข้าราชการท้องถิ่น 6,000 ตำแหน่ง หลังกระแสข่าวเรียกรับสินบน 600,000 บาท ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่น เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 ระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.)
นายอนุทิน กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธี ว่า สถ. ได้ดำเนินการจัดจ้างมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันฯ ซึ่งปีนี้มีตำแหน่งว่าง 6,238 อัตรา โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครสอบมากกว่า 500,000 คน กระจายไปตามภูมิภาคของศูนย์สอบ และสนามสอบต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ด้วยระหว่างนี้ได้ปรากฏข่าวว่า มีขบวนการทุจริตการสอบแข่งขันหลายกลุ่ม และที่ผ่านมาได้มีประชาชนเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงมหาดไทย ว่ามีการเรียกรับเงินเป็นหลักแสนบาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ เพื่อแสดงจุดยืนของกระทรวงมหาดไทย ขอมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบแข่งขันฯ กับทุกส่วนที่อยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการสอบ ประกอบด้วย
1.มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 2. ผู้สมัครสอบแข่งขัน ต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ผู้สมัครสอบต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา 3.ข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวมีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง และ 4.บุคคลอื่นใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือสถาบันติวใด หากปรากฏหลักฐานว่า มีส่วนรู้เห็น หรือร่วมกระทำการทุจริต หรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า ยืนยันว่าตลอดการทำงาน 4 เดือนที่ผ่านมาไม่มีการทุจริต ไม่มีทางที่จะคิดเรียกรับเงินตามข่าวที่ออกมาหัวละ 600,000 บาท และคนที่จะเข้ามาสอบมีกว่า 6,000 คน ซึ่งถ้าคิดเป็นเงิน ก็ 36,000 ล้านบาท ซึ่งมีพูดไปถึงว่ามีการจ่ายเงินก่อนทุกคน แล้วถ้าไม่ได้ก็จะให้เงินคืน อยากขอความกรุณาให้ความเป็นธรรมของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ว่าจะเป็นไปได้หรือ หากมีการรับเงินจากผู้สอบรายละ 600,000 บาท จะเอาเงินไปเก็บที่ไหนและจะไม่มีใครโวยวาย โดยจะไม่มีใครล่อซื้อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และทางกระทรวงก็พร้อมที่จะดำเนินการ ทุกอย่างที่จะต่อต้านและป้องกัน และการก่อให้เกิดความยุติธรรมที่สุด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องการคนเก่งทำงานให้กับบ้านเมือง
“ตัวผมเองมีวาสนาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ผมก็คงไม่ฝากให้กระทรวง ที่ตนได้กำกับดูแลครั้งหนึ่งในชีวิต ไปฝากคนที่มีเจตนาทุจริต ตั้งแต่วันแรกที่จะเข้ามาเป็นราชการ ซึ่งคิดว่าคนในกระทรวงมหาดไทยไม่มีใครยอม แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ปกครองของคนที่มาสอบ เกิดความสบายใจ เพราะคนที่มาหลอกก็เหมือนจีนเทา ที่ใช้ข้อมูลล่อลวง จึงขออย่าให้ไปเชื่อถือ เพราะคนในกระทรวงมหาดไทยไม่มีการทำเรื่องในลักษณะนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากที่สุดเราจึงเชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาป้องกันเรื่องดังกล่าว” นายอนุทิน กล่าว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายใต้ MOU ทั้ง 5 หน่วยงาน มีแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันฯ ร่วมกันจัดให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขันฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่รณรงค์ เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายการป้องกันการทุจริต ชี้เบาะแสการทุจริตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ร่วมกันจัดทำช่องทางการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และเมื่อปรากฏข่าวการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นภาคีเครือข่ายจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยมีการประสานข้อมูลระหว่างกันอย่างใกล้ชิด
“หากพบบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์แอบอ้างว่าจะสามารถทำให้สอบเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือเรียกรับผลประโยชน์อื่นใด ขอให้แจ้งเบาะแสมาที่กระทรวงมหาดไทย ผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567” น.ส.ไตรศุลี กล่าว.-สำนักข่าวไทย