ทำเนียบรัฐบาล 10 ม.ค.- รองเลขาฯ สมช. เดินหน้าพูดสันติสุขชายแดนใต้ หวังรับรองแผน JCPP เมษายน 67 ย้ำ รัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหา
นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวภายหลังการพูดคุยกับ พล.อ. ตันศรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ได้เชิญคณะมาพูดคุยเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ในขั้นตอนที่จะไปพูดคุยกันที่มาเลเซีย ซึ่งยืนยันว่าจะสานต่อแนวทางที่เคยทำไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการทำงานของแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติสุขแบบองค์รวม Joint Comprehensive Plan Towards Peace หรือ JCPP ว่าอยากให้รับรองได้ในเดือนเมษายน 2567 เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเดินหน้าไปได้มากขึ้น โดยแผนปฏิบัติการฯ มีรายละเอียดครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ คือ การลดความรุนแรงและการเผชิญหน้า การเปิดเวทีการปรึกษาหารือสาธารณะ และแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าทุกภาคส่วนจะคืนสู่สภาวะปกติ และเกิดสันติสุขในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะกรรมการชั้นต้น คาดว่าหลังปฏิบัติตามแผนครบทุกกระบวนการใน 10 เดือนนี้ จะมีข้อตกลงสันติสุข ภายในเดือนธันวาคม 2567 หรือต้นปี 2568 แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการ สภาพแวดล้อม รวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งก็ได้รายงานพล.อ. ตันศรี ไป ซึ่งท่านบอกว่าที่อื่นใช้ระยะเวลานาน โดยเราจะนำประสบการณ์ที่ผ่านมามาใช้ และหากคณะทำงานมีความพร้อมให้ความร่วมมือ ก็น่าจะไปได้เร็ว
นายฉัตรชัย กล่าวว่า จะดำเนินการตามแผน JCPP ที่ร่วมกับ BRN ชุดเดิม เพราะ BRN เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และเน้นคนในพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญ จึงมีเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ขึ้น แต่ระหว่างนี้ต้องมีทางฝ่ายประเทศมาเลเซียมาเกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวก สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่พยายามดำเนินการมาตลอด ว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ย้ำว่า จะพูดคุยกับทุกกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตามนโยบาย ตามความเหมาะสม และเปิดเวทีเฉพาะ สำหรับบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ เราก็ยินดีรับฟัง เปิดพื้นที่พูดคุยให้เหมาะสมเช่นกัน
ส่วนการดำเนินคดีกับภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในการจัดงานแต่งกายชุดมลายูนั้น นายฉัตรชัย ระบุว่า ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจผิด เรื่องชุดมลายู ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องของความสวยงาม และวัฒนธรรม ก็สามารถทำได้เต็มที่ ส่วนเรื่องการกระทำความผิดบางส่วน เป็นเรื่องของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดนี้ควรมีการพูดคุยกันภายใน เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสม ส่วนตัวมองว่าอาจเป็นความเห็นต่างของคนกลุ่มหนึ่งในประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยง และคิดว่าปล่อยให้กระบวนการดำเนินการไปจะดีกว่า ส่วนเรื่องการพูดคุยภาพใหญ่ จะยังคงดำเนินการต่อไป เพราะยังมีประชาชนในพื้นที่อีกหลายส่วนที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าจะดำเนินการคู่ขนานกันไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง.-317.-สำนักข่าวไทย