รัฐสภา 18 ต.ค. – อดีต รมช.คลัง ค้านนโยบายแจกเงินหมื่น ชี้หลายประเทศไม่ใช้ หวั่นมีเงินดิจิทัลปลอม-อัดเบียดบังเงินคงคลัง-ผลาญเงินออมสินโดยใช่เหตุ แนะเจาะกลุ่มช่วยคนจน ไม่ต้องแจกเศรษฐี
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ที่จะแจกให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปว่า ตนเองรู้สึกเสียดายต่องบประมาณดังกล่าวที่จะต้องใช้กว่า 5.6 แสนล้านบาท เพราะหากนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน 10 ล้านคน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ตนก็พอรับได้ แต่หากจะนำไปแจกให้กับประชาชน ทั้งที่มีฐานะร่ำรวย หรือชนชั้นกลางด้วย จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ เพราะรัฐบาลสามารถนำเงินดังกล่าวไปทำประโยชน์ให้กับประเทศ สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ได้มากมาย เช่น การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยงบประมาณเพียง 4 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น และตนเองก็เห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้านว่าเป็นการใช้เงินที่ไม่เหมาะสม
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า รู้สึกกังวลต่อการชดเชยทางการคลังต่อนโยบายดังกล่าว ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 คน จะนำรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลที่สูงกว่าเป้าหมายมาใช้นั้น ในทางปฏิบัติงบประมาณที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้เกินเป้านั้น ได้เป็นเงินคงคลังของประเทศแล้ว
“หากรัฐบาลจะใช้เงินดังกล่าวจะเป็นการเบียดบังคงคลังของประเทศ หรือจะใช้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้นั้น เงินดังกล่าวก็เป็นเงินของเด็กนักเรียน ที่มีการส่งเสริมให้ประชาชนออมเงิน แต่รัฐบาลกลับเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี นำเงินไปแจกเพื่อการบริโภค จึงเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกัน นำเงินออมมาผลาญ สร้างหนี้สาธารณะ ที่อนาคตประชาชนจะต้องจ่ายภาษีคืนรัฐบาล” นายพิสิฐ กล่าว
ดังนั้น แนวทางการชดเชยทางการการดุลของรัฐบาล จึงยังไม่ชัดเจน และไม่เชื่อที่รัฐบาล ตั้งเป้าจะขาดดุลไม่เกินราว 7 แสนล้านบาท เพราะไม่เชื่อว่างบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาแจกประชาชน จะเป็นส่วนนึ่งของงบประมาณปี 2567 เพราะไม่สามารถตัดงบรายจ่าย เพื่อมาใช้กับนโยบายนี้ได้ เนื่องจากเงินดังกล่าวจะต้องมีที่มา เพื่อชดเชยการขาดดุลของประเทศด้วย ส่วนเงินนอกงบประมาณก็มีการใช้กับการลงทุน เพื่อประโยชน์ต่อการเงินของประเทศ หากนำมาใช้ผลาญเล่น ก็จะกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะกล้าเสี่ยงนำอนาคตของตนเองมาทำนโยบายดังกล่าว เพราะองค์กรอิสระหลายองค์กรได้ตั้งกรรมการเตรียมตรวจสอบนโยบายดังกล่าวแล้ว
นายพิสิฐ กล่าวว่า ยังไม่มีรัฐบาลในประเทศใดใช้เงินดิจิทัล หรือแม้แต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ยังประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินคริปโทเคอเรนซีทั้งสิ้น เนื่องจากมีความไม่โปร่งใส มีการโกงได้ จึงยังเป็นข้อกังขาที่รัฐบาลจะนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้ รวมถึงพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการออกเงินตรา เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่รัฐมนตรีฯ ก็จะต้องมีเหตุมีผลในการอนุญาตออกรูปแบบเงินตรา เพราะหากมีการจัดทำเงินดิจิทัลปลอมขึ้นมา ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ จึงขอให้นักกฎหมายไปพิจารณาให้ดี และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
ส่วนหากรัฐบาลยืนยันจะคงเดินหน้านโยบายดังกล่าว จะเป็นการซ้ำรอยนโยบายรับจำนำข้าวหรือไม่ เนื่องจากมีนักวิชาการและนักการเมืองออกมาเตือนจะเป็นหายนะทางการเงินของประเทศนั้น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หุ้นที่ตกลงมาก็สะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนแล้ว จึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวรอบคอบแล้วหรือไม่
“ตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ 100% แต่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนจน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแจกเงินให้กับประชาชนทุกคน และการดูแลคนจนก็สามารถแบ่งสัดส่วนได้ เช่น 10 ล้านคน เป็นต้น” นายพิสิฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย