กระทรวงมหาดไทย 17 ต.ค. -“เกรียง” ระบุสถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น ช่วงฝนใกล้หมดฤดู เตือนประชาชนภาคใต้เฝ้าระวังระดับน้ำอาจสูงขึ้น ย้ำ ปภ.บริหารจัดการน้ำเชิงรุก ป้องกันปัญหาซ้ำพื้นที่เดิม
นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ช่วงปลายเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนใกล้จะหมด ปัจจุบันเหลือพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน ดังนี้ 1) ตาก น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ้านตาก รวม 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 450 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 2) ลำปาง น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองปาน รวม 2 ตำบล 18 หมู่บ้าน ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 3) เชียงราย น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอแม่ฟ้าหลวง รวม 5 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 4) พิษณุโลก น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอบางระกำ และอำเภอเมืองพิษณุโลก รวม 11 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 351 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5) ร้อยเอ็ด น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงขวัญ อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอจังหาร รวม 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 106 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 6) กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสามชัย อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอห้วยเม็ก รวม 59 ตำบล 399 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,187 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 7) อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ รวม 10 ตำบล 49 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,070 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
นายเกรียง กล่าวว่า แม้ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวจะมีปริมาณน้ำลดลง แต่ในช่วงปลายเดือนนี้ ภาคใต้จะมีระดับปริมาณน้ำที่สูงขึ้น จนถึงปลายเดือนมกราคม 2567 ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.66) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกประกาศแจ้งเตือน 6 จังหวัดท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์มากถึง 1,796 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม 2566
“เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน จึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้น และอาจกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวแม่น้ำชี ที่น้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 50-60 ซม. และจะสามารถระบายได้ทั้งหมดไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเร่งคลี่คลายปัญหาอุทกภัยในเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการป้องกันสาธารณภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยซ้ำที่เดิมอีก เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว.-สำนักข่าวไทย