พรรคก้าวไกล 14 ก.ย.- “พริษฐ์” หวั่นตั้ง กก.ศึกษาประชามติรัฐธรรมนูญ เปิดช่อง ยื้อเวลา-ย้อนหลักการ-ยอมต่ออำนาจเดิม เรื่องนี้ถูกถกเถียงพิจารณามานานแล้ว เหลือเพียง ครม.ตัดสินใจ แนะรัฐบาลแจงให้ชัด
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่าประชาชนต่างจับตาประชุม ครม. นัดแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ว่าจะมีแนวทางการตั้ง สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับเป็นเพียงข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้นายภูมิธรรม เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน ซึ่งในข้อเท็จจริง แนวทางเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. และการทำประชามติ ล้วนเป็นประเด็นที่ถูกพิจารณาและถกเถียงกันมาโดยละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จนเคยได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายทางการเมืองเห็นตรงกันมาแล้ว
โดยเมื่อธันวาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองในสภาฯ ณ เวลานั้น และมีนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานฯ และคณะกรรมาธิการดังกล่าว ได้ใช้เวลากว่า 8 เดือน ในการศึกษาทุกมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยละเอียด มีรายงาน 600+ หน้า พร้อมกับมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการที่มีหน้าที่ในการรับฟังความจากประชาชนตลอดกระบวนการ โดยหนึ่งข้อสรุปสำคัญที่คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นชอบตรงกัน คือการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน
“ที่จำเป็นต้องย้อนรายละเอียดทั้งหมด ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ ถูกพิจารณาถกเถียงกันมายาวนานหลายปี โดยทุกฝ่ายทางการเมืองมีส่วนร่วมมาโดยตลอด ตอนนี้เหลือเพียงการตัดสินใจของ ครม. ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร ดังนั้นผมจึงมีความกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชุดจะไม่ได้นำไปสู่การที่เราได้รับทราบมุมมองอะไรที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยถูกแสดงมาหมดแล้ว แต่อาจมีวัตถุประสงค์ของการ “ยื้อเวลา-ย้อนหลักการ-ยอมต่ออำนาจเดิม” โดยหากรัฐบาลต้องการยืนยันว่าข้อกังวลผมไม่เป็นจริง ผมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ว่าสามารถชี้แจงรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมได้บ้างเพื่อคลายข้อกังวลดังกล่าวที่ผมมี และประชาชนบางส่วนอาจมีเช่นกัน” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ยังเสนอว่ารัฐบาลควรชี้แจงถึงกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการศึกษานี้ ว่าจะได้ข้อสรุปภายในเมื่อไหร่ และรัฐบาลควรระบุให้ชัดถึงกรอบการทำงานของคณะกรรมการศึกษา ว่าจะเป็นเพียงการศึกษาในประเด็นรายละเอียดและการนำเสนอทางเลือกต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อ 2 หลักการสำคัญที่เคยได้ข้อสรุปร่วมกันไปแล้ว เพราะยังมีข้อกังวล ว่าคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือและข้ออ้างในการย้อนหลักการสำคัญที่เคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไม่ได้แก้ไขรายมาตราและจุดยืนเรื่องการจัดทำฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ควรมาจากการเลือกตั้ง
นายพริษฐ์ ยังกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ อาจเป็นการเปิดช่องให้เครือข่ายอำนาจเดิมที่มีผลงานในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้ามาแทรกแซงและสกัดกั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ข้อสังเกตที่น่ากังวลคือการออกมารับลูกโดย สว. คนหนึ่งที่เห็นชอบกับแนวทางการตั้งคณะกรรมการศึกษาของรัฐบาล และพยายามชี้นำไม่ให้องค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวมีสัดส่วนของ “กลุ่มที่เห็นต่าง” ซึ่งอาจสอดคล้องกับคำเตือนที่ตนได้อภิปรายในรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่าอาจมีความพยายามของกลุ่มอำนาจเดิม ที่จะ ล็อกสเปกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการล็อกสเปกตั้งแต่คนที่จะมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้กระทั่งย้อนมาถึงการล็อกสเปกคณะกรรมการศึกษาฯชุดนี้
นายพริษฐ์ กล่าวว่าพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่า หากไม่อยากให้มีการยื้อเวลา ย้อนหลักการ หรือยอมต่ออำนาเดิม ทางออกที่เรียบง่ายที่สุด คือการที่ ครม. ออกมติให้เดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เลือกตั้ง เพราะหากประชาชนทั่วประเทศเห็นชอบอย่างท่วมท้น ผลประชามติและเจตจำนงของประชาชนจะเป็นอาวุธที่สำคัญและชอบธรรมที่สุด ในการฝ่าฟันแรงเสียดทานจากเครือข่ายอำนาจเดิมและเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย.- สำนักข่าวไทย