พรรคก้าวไกล 12 ก.ค.-พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์โต้ประธาน กกต. ปม “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี ชี้อาจผิด ม. 157 หลังไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่วานนี้(11 ก.ค.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าที่ประชุมกกต.พิจารณาหนังสือของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลที่ขอให้กกต.ปฏิบัติตามระเบียบสืบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาดฯ คดีถือหุ้นไอทีวีแล้วและเห็นว่า กกต.ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ววันนี้ (12 ก.ค.) พรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า กรณีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาก่อน
“รัฐธรรมนูญมาตรา 82 กำหนดว่า กรณีที่ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้ไว้ในการพิจารณายื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 นั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วเห็นว่าสิ่งที่ประธาน กกต.กล่าวนั้นไม่ถูกต้อง” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ดังกล่าวชี้แจงเหตุผลว่า ข้อ 1.สำหรับคดีหุ้นไอทีวี ไม่อาจนำกรณีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2563 (คดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่) มาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ (1) คดีตามคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 93 กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดรองรับหลักเกณฑ์ไว้ในลักษณะทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 และมาตรา 93 ส่วนที่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 55 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
“ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักว่า การนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม มิได้หมายความว่าจะต้องนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับทุกข้อ แต่เป็นกรณีที่นำมาใช้เมื่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้กำหนดไว้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในคดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่จำต้องแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องก่อน แต่ข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวี เป็นคดีการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 ประกอบมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 (3) มิใช่เป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจนำแนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวมาใช้บังคับแก่เรื่องนี้ได้” แถลงการณ์ ระบุ
แถลงการณ์ระบุว่า (2) ในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของกกต.มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล แล้วนำเสนอต่อกกต. แต่ปรากฏว่า กกต.ไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวี ถ้าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีความเห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูลตามคำร้อง ย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 54 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (แก้ไขเพิ่มเติม 2563) ต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ครบถ้วนเสียก่อนที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะทำรายงานการสืบสวนตามข้อ 59 แห่งระเบียบดังกล่าว เสนอต่อเลขาธิการ กกต. และ กกต. ต่อไป
“ข้อ 2.ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นกรณีที่ความปรากฏต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) และรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) อันเป็นเหตุให้กกต.อาจยื่นคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ข้อ 85 วรรคห้า บัญญัติว่า “ภายหลังประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแล้ว คณะกรรมการเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องหรือส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ ระบุว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดกระบวนการขั้นตอนรองรับอย่างชัดเจนตั้งแต่การยื่นคำร้อง การตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน และการวินิจฉัยของ กกต. ด้วยเหตุนี้ เมื่อ กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวมาโดยตลอด ในกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนพอฟังได้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ย่อมต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบฯ ข้อ 54 และเปิดโอกาสให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงข้อกล่าวหาตามข้อ 57 และข้อ 58 แห่งระเบียบฉบับเดียวกัน อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 กกต. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วนดังที่กล่าวไปเสียก่อน
“การที่ กกต.จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่ามีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ โดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ กรณีจึงเท่ากับว่า กกต. ปฏิบัติตามระเบียบเพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนตราขึ้น อันอาจเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้” แถลงการณ์ ระบุ.-สำนักข่าวไทย