รัฐสภา 10 ก.ค. –“เสรี” ส.ว. ยันไม่หนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติต้องห้าม เตือน 7 พรรคคิดรอบคอบ อาจมีปัญหาถึงขั้นยุบพรรค พร้อมติงนักการเมืองต้องไม่ยุประชาชนลงถนน ส.ว.ไม่สนเสียงกดดันหน้าสภาฯ ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสถานภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล จะเป็นปัจจัยการตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของส.ว.หรือไม่ ว่า มีผลต่อการตัดสินใจคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีด้วยอยู่แล้ว โดยส.ว.จะหารือทำความเข้าใจกัน การที่กกต. จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดความชัดเจน ถูกต้องและแก้ปัญหาเกี่ยวกับความเห็นที่แตกต่างทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ ซึ่งถือว่าทำถูกแล้ว ซึ่งกกต.ควรยื่นคดีอาญาตามมาตรา 151 ตั้งนานแล้วด้วย ซึ่งการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การสกัดกั้นนายพิธาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องเหล่านี้เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าให้บุคคลที่ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมึคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนั้น การทำหน้าที่ของส.ส.และสว.ตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องทำหน้าที่เลือกคนที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม คือต้องไม่ถือหุ้นสื่อไอทีวีตามที่ปรากฏในสื่อ เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคุสมบัติที่มีความผิดในตัวของมันเอง เพียงเเต่ส่งสารรัฐธรรมนูญให้เกิดข้อยุติเท่านั้นเอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว
“ผมยังเป็นห่วง 8 พรรคร่วมที่ไปร่วมเซ็น MOU กันไว้ จะกล้าตัดสินใจเลือกคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นว่าเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติซึ่งจะขัดรัฐธรรมนูญ 8 พรรคการเมืองที่ว่าไปแล้วก็เหมือนปลาในข้องเดียวกัน หากยังเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม จะมีปัญหากับ 7 พรรคการเมืองเหล่านั้น ก็ฝากให้พิจารณาข้อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ ฝากแต่ละพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ดูรัฐธรรมนูญตามมาตรา 159 หรือยังว่าคนที่จะเลือกได้นั้น ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม นายพิธาถือหุ้นสื่อมา 17 ปี ก็เข้าข่ายที่จะถูกวินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อและขัดรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต้องไปดูตรงนี้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่ากระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ในส่วนที่ไปเลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ไปเป็นนายกรัฐมนตรีจนกลายเป็นว่าล้มล้างระบบการปกครองหรือไม่ เเต่ก็ยังพยายามที่จะเลือกกัน โดยไม่คำนึงถึงมาตรา 159 และเมื่อขัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 จะถูกตีความไปไกลอีกเยอะ และท้ายที่สุดแล้วจะทำร้ายตัวคุณเอง ส่วนที่กลัวว่า 188 กว่าเสียง แล้วจะไปตั้งรัฐบาล มันไม่ได้ เกิดจากที่ไหน แต่เกิดจากพวกคุณที่ไปไกลถึงถูกยุบพรรค ผมไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น” นายเสรี กล่าว
ส่วนที่พูดกันว่าส.ว.ไม่เคารพเสียงของประชาชน นายเสรี กล่าวว่า การที่ประชาชนลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองการเมืองที่ตนเองเลือกไม่ได้แปลว่าให้พรรคที่เลือกสนับสนุนพรรคอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้น ๆ แต่การทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคนละส่วนกับคะแนนที่ประชาชนเลือกมา ขอให้ทำความเข้าใจตรงนี้
นายเสรี กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค.จะมีการนัดชุมนุมนั้น ซึ่งตนมองว่าไม่ควรยุยงให้ประชาชนลงถนนสร้างความปั่นป่วน เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การเป็นนักการเมือง ต้องมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองประชาชน อย่าไปพูดว่าถ้าไม่เลือกแล้วประชาชนจะออกมาชุมนุม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่เหมาะสมที่จะขึ้นมาบริหารประเทศหรือเป็นผู้นำประเทศ เพราะถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ ยุยงส่งเสริมให้คนทำผิดกฎหมาย สร้างความไม่สงบเรียบร้อยก็ไม่ควรทำ
“ส.ว.ไม่กังวลเพราะทำตามกฎหมาย ถ้าเราเห็นว่าสิ่งใดไม่ถูกต้อง หากเกรงหรือหวาดหวั่นสิ่งที่มากดดัน เราก็ไม่รับผิดชอบ และเราก็คล้อยตามไป ทั้งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เราก็ถือว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ สำหรับในกลุ่มส.ว.ของผม ยืนยันที่จะไม่สนับสนุน พรรคการเมืองที่กระทบกับสถาบัน แก้มาตรา 112 และทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เว้นหมวด 1 หมวด 2 และเชื่อว่าเสียงที่จะสนับสนุนนายพิธาบอกลบไม่เกิน 5 เสียง” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า ไม่กังวลพลังเงียบของกลุ่มส.ว. เพราะว่าพลังเงียบก็คือเงียบ เงียบหมดไม่มีหรอก ที่บอกว่ามีแต่ไม่ออกมาแสดงตน มีแต่รายชื่อที่บอกว่าจะสนับสนุนแต่กลับถอย แล้วที่บอกว่าปัจจุบันได้เพิ่มขึ้น หากมีจริงก็ขอให้แสดงตัว ส่วนจะงดออกเสียงหรือไม่เห็นชอบอยู่ที่กระบวนการ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะเลือก ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ติดต่อมาที่ตน แต่ติดต่อส.ว.คนอื่น.-สำนักข่าวไทย