กทม. 9 ก.ค.- โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีไทย – เกาหลี ร่วมมือผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based inactivated influenza) สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข เพิ่มขีดความสามารถการผลิตและเข้าถึงวัคซีนในอาเซียน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บริษัท SK bioscience Co., Ltd. สาธารณรัฐเกาหลี ในการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านวัคซีนเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ (Memorandum of Understanding Collaboration on Vaccines for Thai’s Public Health Security) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจะร่วมกันผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based inactivated influenza) เชื่อมั่นจะเป็นโอกาสสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขของประเทศ และต่อยอดไปยังภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแสวงหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการผลิตวัคซีนชนิดอื่น ๆ ผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติในอนาคต
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิตวัคซีน ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับใช้ในกรณีที่มีการระบาดและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ (Egg-based technology) นอกจากนี้ยังได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based technology)
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมมือกับ บริษัท SK bioscience Co., Ltd. จากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง ชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุ (Ready to fill bulk) และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการบรรจุเพื่อการผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (Drug product) เพื่อให้มีการใช้สถานที่และระบบสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และความชำนาญให้กับบุคลากร โดยบริษัท SK bioscience Co., Ltd. เป็นผู้ให้คำปรึกษาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตและองค์ความรู้ให้กับ อภ. เพื่อสร้างมาตรฐานระดับสากล เช่น การรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO Prequalification Program : WHO PQ) รวมทั้งศึกษาโอกาสตั้งโรงงานผลิตตัวยาสำคัญ (Drug substance) ในไทย เพื่อศักยภาพในการรองรับการระบาดใหญ่ (Pandemic) รวมไปถึงการผลิตวัคซีนชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น วัคซีนงูสวัด โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนสำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและตอบสนองด้วยการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนที่ผลิตได้เอง 3 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค ผลิตโดยสถานเสาวภา 2. วัคซีนไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ของบริษัท ไบโอเนท เอเชีย และ 3.วัคซีน JD ป้องกันไข้สมองอักเสบ เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแบ่งบรรจุ โดยบริษัท โกลบอล ไบโอเทค โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ อภ.
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมการบูรณาการการทำงานในด้านการสาธารณสุขซึ่งเห็นเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงด้านสาธารณสุขส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและเข้าถึงวัคซีนต่าง ๆ ที่สำคัญต่อสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ไทยมีความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่ และความท้าทายในอนาคต รวมทั้งเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยสู่เป้าหมายการเป็น Medical Hub ในภูมิภาคอาเซียน” นายอนุชา กล่าว .-สำนักข่าวไทย