กรุงเทพฯ 25 พ.ค.-นักวิชาการ ระบุตำแหน่งประธานสภาฯ กับการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญกว่าครั้งอื่น เหตุความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ชี้ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติยังต่อรองกันได้ แต่รอบนี้ถ้าก้าวไกล ยกประธานสภาฯ ให้เพื่อไทย มีสิทธิชวดตำแหน่งนายกฯ ด้วย
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะถือเป็นผู้คุมเกมในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กำหนดวาระของกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีวาระสำคัญหลายเรื่องที่ใช้เป็นจุดแข็งหาเสียงไว้ รวมถึงจุดแข็งการตั้งพรรค เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม การแก้ไข กฎหมายมาตรา 112 หรือกฎหมายการผูกขาดสุราก้าวหน้า เป็นต้น หากตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรคอื่น การคุมเกมในสภาฯ จะทำได้ยาก จึงเป็นสาเหตุที่ตำแหน่งประธานสภามีความสำคัญกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการช่วงชิงตำแหน่งนี้ แต่ประเด็นที่มีความสำคัญมากกว่าคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งพรรคทั้งหลายยืนยันหลักการว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุดในสภาฯ จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ นายพิธาอาจจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากวุฒิสภา (ส.ว.) ดังนั้น พรรคก้าวไกลในฐานะที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด หากยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคเพื่อไทยตอนนี้ อาจจะทำให้เสียทั้ง 2 ตำแหน่งก็ได้ จึงทำให้ไม่สามารถต่อรองกันได้
“หากให้ประเมินพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีคะแนนห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับตำแหน่งประธานสภาฯ อาจจะแบ่งกันได้ แต่เรากำลังอยู่ในกลไกของการเมืองที่บิดเบี้ยวจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และอีกประเด็นคือนายพิธาอาจถูกตัดสิทธิ์เรื่องคุณสมบัติกรณีถือหุ้นสื่อดังนั้น การต่อรองทำได้ยาก ถ้าในสถานการณ์ปกติ พรรคเพื่อไทย อาจจะหาหรือว่าพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ในจุดที่ มีความบิดเบี้ยวเกิดขึ้น ถ้าพรรคก้าวไกลยกตำแหน่งประธานสภาฯให้พรรคเพื่อไทย ก็อาจจะทำให้ เสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ ก็ได้” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว
เมื่อถามว่าคะแนนที่ต้องเกาะเกี่ยวกันเพื่อจับมือเป็นรัฐบาล จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคในการตั้งรัฐบาลหรือไม่ ศ.ดร. สิริพรรณ กล่าวว่า ตอนนี้มีปัญหาแน่ ๆ ถ้าในมุมของพรรคเพื่อไทยที่มองได้ว่าเมื่อคะแนนห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง เขาจะต้องยอมยกทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคก้าวไกล ก็อาจจะรู้สึกว่าให้มากเกินไป เพราะการสัญญากันตั้งแต่ต้น คือพรรคอันดับ1 มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่พูดคุยต่อรองกันได้ หากมองทั้งสองมุมก็จะเห็นว่ามีความยากลำบากที่การจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว โดยประเด็นหลักอยู่ที่ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยบอกว่าหากไม่ให้ตำแหน่งประธานสภาฯ จะถอนตัว พรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งในแง่นี้พรรคเพื่อไทยจะมีอำนาจต่อรองมากกว่า เพราะพรรคเพื่อไทยจะไปร่วมกับพรรคอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ตามที่ประกาศไว้
ส่วนทางออกจะไปในทิศทางใด ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า ทางออกได้ยากมาก เพราะเห็นถึงความจำเป็นของทั้งสองพรรคที่อยากจะได้ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ที่ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคอันดับหนึ่งมีความไม่แน่นอน เลยทำให้ต้องต่อรอง พอรัฐธรรมนูญออกแบบมาแบบนี้ทำให้การต่อรองเป็นเรื่องเหมือนน่ารังเกียจ แต่ก็อยากให้มองเป็นเรื่องปกติในระบอบรัฐสภา ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจ แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็เลยยาก
ศ.ดร. สิริพรรณ กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่ประนีประนอม แล้วส่งคนท้าชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร อาจทำให้ได้คะแนนเสียงชนะพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลจะมีคะแนน 152 เสียง รวมกับพรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย ส่วนพรรคอื่นที่เหลือก็มีสิทธิ์ที่จะโหวตให้ผู้ท้าชิงจากพรรคเพื่อไทย ถ้ามีการเสนอแข่ง ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งแรกไปก่อน อีกทั้งยังเป็นการโหวตลับ และหากเป็นแบบนั้นพรรคเพื่อไทยจะถูกมองว่าหักหลังพรรคก้าวไกล แต่ถ้ามองอีกแบบหนึ่งเป็นการต่อสู้กันในระบอบรัฐสภาปกติ เพราะไม่ได้มีคำสัญญาว่าจะโหวตให้กับประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกล ทางออกคงต้องเจรจากัน ถ้าพรรคก้าวไกลจะขอตำแหน่งนี้ไว้ต้องแลกกับอะไรบ้าง ต้องเป็นการพูดคุยกันนอกรอบ ไม่ใช่ออกมาปะทะกันผ่านสื่อเพราะจะทำให้กองเชียร์ของแต่ละฝั่งโจมตีกันมากขึ้น ไม่เป็นผลดีกับทั้งสองพรรค
เมื่อถามว่า ถ้าตกลงกันไม่ได้พรรคก้าวไกลจะเดียวดายในสภาหรือไม่ ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ ตำแหน่งประธานรัฐสภาเป็นตำแหน่งคุมเกมฝ่ายนิติบัญญัติ มีความหมายมากกว่าการเป็นประธานในที่ประชุม พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ใช้กระบวนการนิติบัญญัติในสภาฯ แสดงจุดยืนทางการเมือง และสร้างความผูกพันกับประชาชนค่อนข้างมาก ผ่านการเสนอนโยบายสมรสเท่าเทียม การยุติการเกณท์ทหาร รวมถึงประเด็นการแก้ไขม.112
“การคุมเกมในสภาผู้แทนราษฎรโดยประธานรัฐสภาจึงมีความสำคัญกับพรรคก้าวไกล แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจต่อรองระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ใกล้เคียงกันมาก เพราะกันแค่ 10 คะแนน และถ้ารวมกับพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยก็มีเท่า ๆ กับพรรคก้าวไกล การต่อรองตำแหน่งประธานสภาฯ จึงมีความสำคัญกับทั้ง 2 พรรค ก็อยากให้คุยกัน ขณะที่สื่อและแฟนคลับของทั้ง 2 พรรคต้องใจเย็น ปล่อยให้เป็น กระบวนการต่อรองโดยคะแนนเสียงในสภาฯ เพราะไม่อย่างนั้นถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัวไม่ร่วมรัฐบาล ก็จะกลายเป็นฝั่งของขั้วรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาฉกฉวยเสี้ยมให้สองพรรคนี้แตกกันได้ง่าย” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย