17 พ.ค.-นักวิชาการแนะ “ก้าวไกล” ลดความเกรี้ยวกราด หากหวังคะแนนจาก ส.ว. และ ส.ส. โหวตส่ง “พิธา” ขึ้นสู่นายกรัฐมนตรี และต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงโอกาสที่พรรคก้าวไกล จะส่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เสียงสนับสนุนที่มีอยู่ 310 เสียง ยังขาดอยู่อีก 66 เสียง จะได้ 376 เสียง และท่าทีจากหลายพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล มีทีท่าว่าจะไม่โหวตให้ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนจะไม่โหวตให้เช่นกัน หากดูกระแสและทิศทางสังคมเวลานี้ที่โยนความกดดันกลับไปให้ ส.ว. บวกปฎิกิริยาเร่งจากสังคมอย่างหนักหน่วง ทั้งคนทั่วไป ดารา นักร้อง หลัง ส.ว. บางคนแสดงท่าทีคัดค้านและฝืนความรู้สึกของคนในสังคม ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดีตามลำดับกับคุณพิธา และพรรคก้าวไกล ที่เกิดมาจาก ส.ว. และ ส.ส.ขั้วตรงข้ามแสดงท่าทีพร้อมออกเสียงให้ แต่ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญต้องไม่มีเสียงด่าทอ แรงกดดัน ต้องปล่อยให้เป็นเอกสิทธิ์ บวกกับมีความพยายามจากฝั่ง ส.ว.ที่อยากแสดงให้สังคมเห็นเพื่อจะสลัดภาพความเป็น “สภาฝักถั่ว” ให้เห็นว่า ส.ว. ก็มีวุฒิภาวะ แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางอย่างของพรรคก้าวไกล แต่ก็ไม่ปฏิเสธฉันทามติจากประชาชน
สำหรับอุปสรรคขณะนี้ คือ จุดยืนของพรรคก้าวไกล จะปรับลดเพดานความแข็งของตัวเองได้มากแค่ไหน ถ้าหย่อนได้จะดี ส่วนพรรคก้าวไกลจะหาเสียงได้ 376 เสียง ทันในการเปิดประชุมสภา เลือกนายกฯ นัดแรกเดือนสิงหาคมนี้หรือไม่ ภาพตรงนี้จะเห็นชัดเจน เมื่อ “พิธา” คุยกับ ส.ว. หากภาพตรงนี้ไม่ชัด ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ดูจากสถานการณ์วันนี้แนวโน้มน่าจะดีขึ้น ย้ำว่าขึ้นอยู่กับท่าทีของก้าวไกล จะลดความแข็งกร้าวลงได้บ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีการประนีประนอมก็ไม่เกิดผลดี และหากหวังเสียงจาก ส.ว. อย่างเดียวไม่พอ เป็นโอกาสที่ก้าวไกล จะไปเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเชิญร่วมรัฐบาล เพื่อเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ของพรรคตัวเองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย