กกต. 9 พ.ค. – กกต.จับมือภาคีเครือข่าย ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับระบบเลือกตั้ง “เลขาฯ แสวง” ยันตั้งใจทำให้สนามเลือกตั้งแข่งขันเป็นธรรม สั่ง ผอ.กกต.ทุกจังหวัดซักซ้อม กปน.เตรียมจัดเลือกตั้ง ไม่ให้เกิดปัญหาในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ขอให้ประชาชนมั่นใจ พร้อมสั่งตรวจสอบปม “ไอลอว์-ชูวิทย์” ออกมาแฉแล้ว เผยการยิงเลเซอร์หาเสียงบนสะพานพระราม 8 ของ รทสช. เป็นการหาเสียงอิเล็กทรอนิกส์ รอ กกต.กทม.รายงาน
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับระบบเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนควบคุมกำกับบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของ กกต. เช่น สมาร์ทโหวต แอปพลิเคชันตาสับปะรด เว็บไซต์ กกต. ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงการเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค.66 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มีความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ ย้ำว่าหน้าที่ของ กกต. คือการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ และประชาชนเป็นเจ้าของการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.จึงตั้งความหวังเอาไว้สูง เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าสังคมจะรู้สึก หรือมอง กกต.อย่างไร แต่สิ่งที่ กกต.ตั้งใจทำ คือการให้มีสนามแข่งขันที่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง มีความเสมอภาคทุกพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน รายการที่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส
ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาด ทางสำนักงานได้รีบดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 พ.ค. โดยได้ส่งหนังสือแจ้งทุกจังหวัดให้ซักซ้อมกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในการทำงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกกับประชาชน ดูแลการปิดประกาศให้ครบถ้วน ชัดเจน และดูแลรักษาอย่าให้ใครมาทำลาย และนำมาเป็นประเด็น ทำให้เกิดความสับสนว่า กกต.ดูแลไม่ดี หรือทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ตลอดจนการนับคะแนน การรายงานผล ผอ.ต้องติดตามใกล้ชิด ให้คำแนะนำให้ปฏิบัติและดูแลผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง หากเกินกำลัง ให้ส่งมายัง กกต.ส่วนกลาง ซึ่งมีการตั้งคลินิก กปน.รองรับในวันนี้
“กกต.ยืนยันว่า จะรักษาคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือที่จะลงในวันที่ 14 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าท่านลงให้ใคร ให้พรรคไหน คะแนนนั้นก็จะได้กับคนนั้น ผมหวังว่าสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยดี เราต้องรักษาสนามประชาธิปไตยไว้” นายแสวง กล่าว
สำหรับกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตหลักเกณฑ์การกำหนดให้ค่าใช้จ่ายของผู้สังเกตการณ์นั้น นายแสวง กล่าวว่า เราต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม กกต.ก็อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาตรวจสอบการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือภาคประชาชนต่างๆ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น มีกฎหมายให้พรรคการเมืองส่งผู้สังเกตการณ์ได้ตามมาตรา 55 โดยพรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สังเกตการณ์ ต้องแจ้งต่อ กกต. 15 วัน ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นของพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใช้วงเงิน 44 ล้านบาท หมดไปแล้ว ก็อาจจะอาศัยช่องทางผู้สมัครแบ่งเขตของพรรคการเมืองนั้น ส่งผู้สังเกตการณ์มาดูแลแทน ซึ่งแตกต่างกัน เนื่องจากผู้สังเกตการณ์กรณีที่แจ้ง กกต.มานั้น จะจัดที่นั่งไว้ให้ด้านในหน่วยเลือกตั้ง แต่กรณีที่ส่งมาเองก็จะอยู่ด้านนอก แต่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรณีทักท้วงว่ามีกฎหมายพรรคการเมือง ระบุว่า กกต.เคยออกค่าใช้จ่ายให้นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2541 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองส่งผู้แทนร่วมเป็น กปน.ได้ แต่กฎหมายนั้นยกเลิกไปแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้น ยืนยันว่า สิ่งที่ กกต.ทำนั้นเป็นไปตามกฎหมาย แต่ทุกคนก็สามารถมีช่องทางสังเกตการณ์ได้ตามปกติ
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นอีก จะคาดโทษใครหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือวันที่ 14 พ.ค. ได้ให้ ผอ.ทุกจังหวัดรายงานทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกหน่วย ซึ่งมีบันทึกเหตุการณ์เอาไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่ 08.00 น. จนถึงการนับคะแนน เช่น หากขานคะแนนผิด แล้วมีข้อทักท้วง ก็จะต้องบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ หรือกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ระบุนั้น ตนได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เพื่อให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ ดังนั้น นอกจากการบันทึกเหตุการณ์ที่หน่วยแล้ว ให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวด้วย ว่าจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร
ส่วนกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีการยิงแสงเลเซอร์หาเสียง บริเวณเสาหลักกลางของสะพานพระราม 8 นายแสวง กล่าวว่า ได้ฟังจากข่าว เพราะเป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งทุกการหาเสียงนั้น ป้ายติดอยู่ในพื้นที่ของรัฐทั้งนั้น ทั้งตามถนน เสาไฟฟ้า สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาต ซึ่งกรณีพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เมื่อดูแล้วเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามข้อ 7 (7) เป็นการหาเสียงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการหาเสียงลักษณะดังกล่าว เราได้มีหนังสือแจ้งไปยังทุกพรรคการเมืองแล้วว่าไม่อยู่ภายในการบังคับเลือกตั้ง แต่ขอให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้อนุญาต ซึ่งเรื่องนี้ทาง กทม.ได้ตรวจสอบแล้ว กรณีมีคนร้องให้ กกต.กทม.วินิจฉัย ก็ต้องวินิจฉัย แต่จะให้ตนวินิจฉัยตอนนี้คงยังไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริง มีแต่เพียงการฟังมาว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จำแนกเป็นรายเขต เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงให้จัดทำข้อมูลหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นไฟล์ไมโครซอฟท์ เอ็กเซล นายแสวง กล่าวว่า ขอรับไว้พิจารณา.-สำนักข่าวไทย