โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ 24 ก.พ.-กกต.เตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วปราบทุจริตเลือกตั้ง 400 ชุดทั่วประเทศ เตรียมแผนทุกอย่างคู่ขนานรอคำวินิจฉัยศาลรธน.ปมจำนวนราษฎร
นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ “การจัดการเลือกตั้งส.ส.ตามบทบัญญัติกฎหมายใหม่” ว่า กกต.ระมัดระวังทุกขั้นตอนของการจัดเลือกตั้ง การแบ่งเขตต่องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าสิ่งที่กกต.ดำเนินการมาแล้วถูกต้อง การดำเนินการต่อไปก็จะเร็ว เพราะตอนนี้กำหนดขั้นตอนไว้หมดแล้ว แต่ถ้าศาลวินิจฉัยต่างจากที่กกต.ดำเนินการมา สิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการก็ต้องทำให้เร็วที่สุดตามกรอบเวลาที่เรามี คงรอให้เวลาล่วงเลยไปไม่ได้ จึงดำเนินการคู่ขนานไปกับการรอศาลวินิจฉัย
“วันที่ 23 มี.ค.นี้จะครบวาระสภาฯ นี้ แต่เพื่อความไม่ประมาท ต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะมีขั้นที่พรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวต ส่วนเรื่องประกาศให้มีการเลือกตั้ง ต้องมีพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีแล้วกกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน เพราะจะประกาศวันเลือกตั้งโดยไม่มีเขตเลือกตั้ง แล้วไปเลื่อนวันเลือกตั้งทำไม่ได้ ส่วนการเลื่อนวันเลือกตั้ง ต้องเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถลงคะแนนได้ เช่น เกิดเหตุจลาจล แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด การจัดการเลือกตั้งได้ ต้องมีเขตเลือกตั้งก่อน” รองเลขาธฺการกกต. กล่าว
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า การรับสมัครเลือกตั้งวันแรก จะรับสมัครแบบแบ่งเขตก่อน แล้ววันที่สองจึงจะเริ่มสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เบอร์ของแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อไม่ตรงกัน ส่วนการประกาศผลเลือกตั้งกับการรายงานผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการนั้น บางครั้งทำให้เกิดความสับสน ซึ่งการประกาศผลทางการคือการรับรองผลเลือกตั้งเป็นการรับรองผลตามกฎหมาย จะมีกรอบเวลาภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งก็จะมีคำถามว่าทำไมหลังวันเลือกตั้งไม่ทยอยประกาศ เพราะกกต.ทำตามกฎหมายที่ให้ประกาศร้อยละ 95 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด คือกกต.ต้องประกาศในครั้งเดียวให้ได้อย่างน้อย 380 เขตทั่วประเทศ
ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. บรรยายหัวข้อ “กลยุทธ์การแสวงหาข่าวและป้องปราบการทุจริตการเลือกตั้งส.ส.” ว่า กฎหมายเลือกตั้งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การสื่อสารให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจค่อนข้างลำบาก กกต.ไม่ได้มีกฎเหล็กอะไร มีแต่กฎหมายที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าระเบียบไม่ละเอียด ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองจะดำเนินการไม่ถูก เมื่อเราออกละเอียดไป ก็จะซิกแซ็ก เป็นดาบสองคมได้ การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.เตรียมตัวไม่น้อยกว่าครั้งอื่น ๆ ตั้งเจ้าหน้าที่สอบสวน ทั้งออกภาคสนามและประชุมผ่านระบบซูม และครั้งนี้การดำเนินการจะรวดเร็วกว่าครั้งอื่น เพราะมีบัญญัติเรื่องเวลาในกระบวนการยุติธรรมกำหนดไว้
“ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุดทั่วประเทศดูแลความเรียบร้อยและการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนงานสืบสวนสวนสอบ ได้ตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนทุกจังหวัด ด้านแอปพลิเคชันตาสับปะรด พัฒนาข้อมูลให้ผู้โหลดต้องแสดงตัวตนด้วยการแสดงเลขประจำตัวประชาชนทั้ง13 หลัก ตอนนี้มีผู้โหลดแอปฯ แล้ว 10,000 คน และมีข้อมูลกว่า 1,000 ข้อมูลที่นำมาใช้ในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจากสถิติในการเลือกตั้งปี 62 มีคำร้องจำนวน 500 เรื่อง ส่วนคำร้องส่วนท้องถิ่มี 7,000 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเงินรางวัลแจ้งข้อมูลเบาะแสทุจริตเลือกตั้งสูงสุด 2 ล้านบาท หลังศาลพิพากษา และการคุ้มครองพยานการเลือกตั้ง ใครที่มาเป็นพยานให้ เราคุ้มครองหมดกว่า 26 รายแล้ว” ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าว
ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าวว่า ส่วนสถิติเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดสูงนั้น ด้วยการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการแข่งขันที่สูง แต่ไม่ได้ละเลยการกระทำความผิด เมื่อมีการร้องเรียนที่ไหน เราก็รับเรื่องมาตรวจสอบหมด จึงทำให้ดูเหมือนมีเรื่องร้องเรียนเยอะ ส่วนจะทำอย่างไรให้ลดน้อยลง ประการแรก ต้องทำความเข้าใจกับผู้สมัครและประชาชนว่า กฎหมายมีความชัดเจนระดับหนึ่ง ประการที่สองการซื้อสิทธิ์ขายเสียง สื่อต้องช่วยสื่อสารว่า ลงโทษจริง พวกที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันนั้นยังมีแออยู่
ขณะที่พ.ต.ต.เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ “การทำไพรมารีโหวต และค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง” ว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ 86 พรรค ก่อนส่งผู้สมัครเลือกตั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครต้องเข้าระบบการทำไพรมารีโหวต การมีส่วนร่วมแบบกว้างขวาง ซึ่งต้องมีสาขา ตัวแทนและกรรมการสรรหาของพรรค ซึ่งข้อห้ามของการทำไพรมารีโหวต พรรคการเมืองต้องไม่เรียกรับทรัพย์สินหรือสัญญาว่าจะให้ในการเลือกบุคคลเข้ารับสมัคร และไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวของกับพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำไพรมารีโหวต ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ถ้าเป็นกรณีครบวาระสภาฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคนละ 7 ล้านบาท กรณียุบสภาคนละ 1.9 ล้านบาท ส่วนพรรคการเมือง กรณีครบวาระสภาฯ ค่าใช้จ่าย 163 ล้านบาท และกรณียุบสภา 44 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย