กทม. 5 ก.พ.- “กรณ์” เชิญ “ศศิน-อดิศร์” ร่วมร่างนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ชาติพัฒนากล้าเดินหน้า “พันธบัตรป่าไม้” กลไกเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้เกษตรกร คืนพื้นที่สีเขียว 40% ของประเทศ ลดการเผา ต้นตอฝุ่น PM2.5
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วยทีมงาน เดินทางไปยัง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าพบ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ดร. อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก TDRI และ อนุกรรมการพันธบัตรป่าไม้ เพื่อหารือถึงแนวคิดการใช้ “พันธบัตรป่าไม้” ที่จะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าอันเกิดจากการบุกรุก ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังมีป่าเศรษฐกิจไว้ใช้อย่างยั่งยืนด้วย
นายกรณ์ กล่าวว่า ถือเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์ศศิน นักอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่มีชื่อเสียง หลายท่านรู้จักเป็นอย่างดี และ ดร.อดิศร์ นักวิชาการที่มีความคิดแหลมคม ท่านได้ออกหนังสือมาหลายเล่มแล้ว และอาจารย์ศศิน ได้แนะนำให้ตนไปศึกษา สุดท้ายได้ออกมาเป็นนโยบาย “พันธบัตรป่าไม้” ของพรรคชาติพัฒนากล้าในเฉดสีเขียว ซึ่งเป็น 1 ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี เพื่อเป็นเครื่องมือใช้ในการส่งเสริมการปลูกป่า
หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า เป้าหมายของการออกพันธบัตรป่าไม้ คือ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศให้ได้ 40% ของพื้นที่โดยรวม ซึ่งหมายถึงเราต้องปลูกป่าเพิ่ม 26 ล้านไร่ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูนโยบายของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา พบว่ามีการส่งเสริมให้มีการปลูกป่า ด้วย 2 วิธีหลัก คือ 1. ใช้กฎหมายควบคุมการบุกรุกป่า ซึ่งก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากพื้นที่ป่าลดลงทุกปี และ 2. การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาใช้งบประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี เมื่อมาคำนวณดูในแง่ของต้นทุนการปลูกป่าพบว่า ถ้าใช้ 500 ล้านบาทอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถปลูกป่าได้ไม่เกิน 2 แสนไร่ต่อปี และถ้าจะให้ได้ตามเป้าหมาย 26 ล้านไร่ ต้องใช้เวลาประมาณ 130 ปี
นายกรณ์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรเอาจริงเอาจังกับการเพิ่มพื้นที่ป่า เพราะจะส่งผลโดยตรงในเรื่องของการบริหารจัดการแหล่งน้ำ การลดภาวะโลกร้อน การไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งถ้าเราทำได้ดีก็จะสามารถได้พื้นที่กลับคืนมาจากการบุกรุกและแปลงสภาพป่าดั้งเดิมเป็นไร่ข้าวโพด ที่มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และการเผาป่าจนเกิดมลพิษ ฝุ่น ควัน และ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
“การเพิ่มพื้นที่ป่า มีผลทางเศรษฐกิจในด้านบวก เราต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่า พันธบัตรป่าไม้ คือการหันมาปลูกป่า ดูและป่า แทนการปลูกไร่ข้าวโพด พวกเขาจะมีรายได้ที่ดีกว่า รัฐบาลนี้ได้ปลดแอกพืชพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด ให้สามารถปลูกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และในระหว่างรอการตัดไม้ไปขาย หรือประมาณ 8 ปี ขึ้นไปนั้น ระหว่างการรอ ก็มีเงินจากกองทุนพันธบัตร ให้ใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ ซึ่งผมคำนวณผลตอบแทนกลับมาแล้วคุ้มกว่าชีวิตของการเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโพดหลายเท่า เพราะไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี ดังนั้น ผลต่อระบบนิเวศน์ก็ดีกว่า ความยั่งยืนและความเสมอต้นเสมอปลายจากแหล่งที่มาของรายได้ ก็มั่นคงกว่า” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยคือ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ถ้ามีการปลูกป่าเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้ ประเทศไทยเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ราคาคาร์บอนเครดิต ยังต่ำว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป 10-20 เท่า เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตเรื่องของคาร์บอนเครดิต คือประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เรามีโอกาสได้เพิ่มเติม
“การทำการเกษตรด้านการปลูกป่าเศรษฐกิจ จึงเป็นกลไกการตลาดที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และสำคัญที่สุด คือประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนที่เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคชาติพัฒนากล้ามั่นใจว่านโยบายของเรามาถูกทางแล้ว” นายกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย .-สำนักข่าวไทย