กทม. 8 ม.ค. – ปชป. ชี้ประเทศจะเดินหน้าได้หลังวิกฤติโควิด ต้องมีแผนบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวเปิดงานเสวนา “เดินหน้าประเทศอย่างไร ในวันที่โควิด(ยัง) กลายพันธุ์” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ว่า ประเทศไทยมีบทเรียนจากการต่อสู้กับวิกฤติการณ์โควิดมาแล้ว ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ และใช้ชีวิตร่วมกับโควิดได้ในระดับหนึ่งแม้จะมีการกลายพันธุ์อยู่บ้าง ขณะที่เมื่อจีนเปิดประเทศให้ทั้งคนจากประเทศต่างๆ เดินทางท่องเที่ยวในจีน และคนจีนเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศตั้งเงื่อนไขและมีปฏิกริยาต่อจีน ซึ่งในวันที่ 12 มกราคมนี้ จะมีคนจีนชุดแรกเดินทางเข้าประเทศไทย และประเทศไทยมีแนวทางปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวจีนเหมือนกับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้นวันนี้จึงชวนทุกคนช่วยกันขบคิดว่าจะเปิดประเทศอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
น.พ.อนุพงษ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อโอไมครอนทั่วโลกจำนวนกว่า 660 ล้านคน เสียชีวิต 6 ล้านกว่าคน ขณะที่เครื่องมือสำคัญในการจัดการโควิดของไทยคือวัคซีน ปัจจุบันคนไทยได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 170 ล้านเข็ม โดยเข็มที่ 1 และ 2 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าฯ หรือวัคซีน MRNA ที่สามารถลดความรุนแรงได้ประมาณ 80% เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ถือว่าเราอยู่ในอันดับที่ 6 ส่วนเรื่องของวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมี แต่สุดท้ายไม่มีนั้น ก็มองว่า ผู้ผลิตยังเฝ้าดูการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ก่อนที่จะตัดสินใจผลิตวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ ดังนั้นหากประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น หรือได้รับวัคซีนเข็มล่าสุดมานานกว่า 4 เดือน จำเป็นต้องไปฉีดกระตุ้น และอย่าลดการ์ด ต้องใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง
พ.ญ.ชุลีพร จิระพงษา นักระบาดวิทยา ระบุว่าในวิกฤติโควิดที่ผ่านมานั้น การที่คนไทยเสียชีวิตเป็นเพราะได้รับวัคซีนน้อย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีการฉีดวัคซีนเพียงเข็ม 2 ประมาณ 80% ส่วนเข็ม 3 มีประมาณ 30 % และการฉีดวัคซีนนั้นเมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง ดังนั้นโดยเฉพาะกลุ่ม 608 จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย และจากมติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 8/2565 วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ประเทศไทยเปิดทางเลือกให้กับผู้ฉีดวัคซีนมากที่สุด โดยมีให้เลือกแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ยังมองว่าโควิดที่จีนประสบอยู่นั้นมีสายพันธุ์ไม่แตกต่างจากไทย ดังนั้นจึงสามารถปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวจีนและประเทศอื่นๆ ได้เหมือนกัน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมควรแนะนำให้นักท่องเที่ยวตั้งการ์ด ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม สวมหน้ากากอนามัย ฉีดแอลกอฮอลล์ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมต้องทำความสะอาดพื้นผิว และหากพบนักท่องเที่ยวมีอาการต้องรีบแจ้งสถานพยาบาลซึ่งประเทศไทยก็มีระบบสาธารณสุขที่ดีมากอยู่แล้ว
ในขณะที่ ดร.อรณิชา สว่างฟ้า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้นับว่ากลับสู่ภาวะปกติ แต่ถือว่ายังมีวิกฤตเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเป็นตัวแปร ทำให้คาดการณ์ลำบาก เพราะเมื่อดูตัวเลขปี 2565 เศรษฐกิจโต 3.5 ปี 2566 เศรษฐกิจเติบโต 3.8 มีนักท่องเที่ยว 21.5 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเพียง 2 ล้านคน ถือว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีความสมดุล ไม่เร่งรีบจนเกินไป เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานเครดิตที่ดี ความมีเสถียรภาพจึงเป็นตัวช่วยให้ไทยมีทรัพยากรในการต่อสู้ปัญหาได้ ซึ่งหากมองในระยะยาวเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นตัวที่พัฒนาต่อได้ในระยะยาวและยั่งยืนได้ อาทิ เรื่องการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ดิจิทัล เป็นต้น
ด้านนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้สะท้อนเสียงประชาชนว่าจากช่วงโควิดระบาด พี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากภาครัฐมีการสื่อสารไม่ชัดเจน ขณะที่ในภาคปฏิบัติก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างทันท่วงที จึงอยากให้ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ภาครัฐต้องตั้งรับและต้องชี้แจงให้ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยต้องเปิดรับนักท่องเที่ยว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการรับมือที่ชัดเจน รวดเร็ว และอยากให้ทุกคนระมัดระวัง ตั้งการ์ด ออมสุขภาพให้ดี
ทางด้านนางดรุณวรรณ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นักสื่อสารการตลาด มองว่า การที่จะเดินหน้าประเทศต่อไปได้ ในขณะที่โควิดยังกลายพันธุ์ ประเทศต้องมีแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤติแบบบูรณาการ ที่ต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องครบทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข และต้องมีรูปแบบการสื่อสารที่เป็นระบบเพื่อไม่ให้วิกฤติด้านการสื่อสารมาส่งผลกระทบต่อวิกฤติใหม่ๆ การจัดการในภาวะวิกฤตินั้น นอกจากต้องมีการบัญชาการแบบศูนย์รวม (Single Command) แล้ว ยังจำเป็นต้องมีการสื่อสารด้วยชุดข้อความเดียวจากแหล่งที่ถูกต้อง (Single Message) เพื่อป้องกันความสับสน และไม่ทำให้วิกฤติด้านการสื่อสารไปสร้างวิกฤติเพิ่มเติมให้กับวิกฤติด้านอื่นๆ ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยต้องนำวิกฤติโควิดมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การเดินหน้าแก้ไขประเทศชาติได้อย่างแท้จริง .-สำนักข่าวไทย