กทม. 11 ธ.ค.- “ยุทธพร” นักวิชาการมองสภาล่มเป็นเรื่องปกติ ในช่วงท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าปัญหาสภาล่มไม่สามารถนำมากดดันเพื่อล้มรัฐบาลหรือยุบสภาได้
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แสดงความเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุมสภาที่ล่มบ่อยครั้ง ว่า ในเรื่องขององค์ประชุม และปัญหาสภาล่มถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสภาชุดนี้ เพราะล่มมา 26 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มา 3-4 ปี โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งก็จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากในช่วงนี้จะมี ส.ส.ลงพื้นที่ การย้ายพรรค การไปพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นโอกาสที่เราจะเห็นสภาล่มก็เป็นไปได้สูง ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะกระบวนการออกกฎหมาย รวมถึงการอภิปราย และตั้งกระทู้ต่างๆ แต่ก็เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว และหลังจากนี้ก็จะมีเพียงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ดังนั้นการจะโหวตเพื่อคว่ำรัฐมนตรีหรือรัฐบาลกลางสภาก็ไม่เกิดขึ้น
“ดังนั้นเราจะเห็นปรากฏการณ์สภาล่ม ส.ส.แตกแถว ส.ส.ไม่เข้าประชุม เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้” นายยุทธพร กล่าว
เมื่อถามว่าหากมีการย้ายพรรคหรือลาออกจะทำให้เสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลน้อยลง และจะเป็นสาเหตุให้ยุบสภาได้หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่าการยุบสภานั้นเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ไม่น่าจะเกิดจากการกดดันหรือกรณีสภาล่ม แต่น่าจะเป็นการยุบสภาที่เกิดจากเหตุผลทางเทคนิคทางการเมือง ประการแรก คือ ยืดขยายระยะเวลาการเลือกตั้ง จากปกติที่ครบวาระคือเลือกตั้งภายใน 45 วัน ก็ขยายเป็น 45 แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งก็เป็นการขยายของเวลารักษาการของคณะรัฐมนตรีด้วย และประการที่สอง คือ การทำให้ระยะเวลาของการสังกัดพรรค ซึ่งปกติต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ตรงนี้จะย่อลงเหลือ 30 วันเท่านั้น ถ้ามีการยุบสภาเกิดขึ้น ซึ่งการยุบสภาเกิดขึ้นอยู่แล้ว แม้ในสภาจะเกิดภาวะสภาล่มหรือไม่
ส่วนการที่ ส.ส.ทยอยไปร่วมเปิดตัวกับพรรคการเมืองใหม่ ไม่ว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่หรือพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ ตามกฎหมายที่ต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน ซึ่งถ้าเรานับจากวันสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ควรจะเกินช่วงปีใหม่ที่ ส.ส.จะต้องไปสังกัดพรรคใหม่ ซึ่งกระบวนการสังกัดพรรคจะทำได้ยากหากเลยช่วงปีใหม่ไป เว้นเสียแต่จะมีการยุบสภา แต่การยุบสภาก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้นในช่วงนี้ ส.ส.จึงมีความเคลื่อนไหวในเรื่องการสังกัดพรรค เพื่อป้องกันไม่ทันระยะเวลา 90 วัน .-สำนักข่าวไทย